หากจะว่าไปถึงความชอบในการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว 2 คนนี่คงไม่แพ้ใคร เพราะจากการเดินทางมากมาย จนทำให้ปัจจุบันพวกเขาเป็นเจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยวไทยและอาเซียนรวมกันกว่า 80 เล่ม เรียกได้ว่าผ่านการเขียนมาอย่างโชกโชน
พวกเขาคือ “สาธิตา โสรัสสะ” หรือตา และ “ชาธร โชคภัทระ”หรืออ๋อง
ปัจจุบันพวกเขายังรวมตัวกับบล็อกเกอร์และมีเดียอื่นๆที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวและเดินทางรวมกัน 8 คน ตั้งเป็นกลุ่ม Media & Blogger 8 Thailan
เราลองมาฟังเรื่องราวของสาวคนแรก สาธิตา โสรัสสะ
เส้นทางก่อนที่จะมาเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค
หลังจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาเอกหนังสือพิมพ์ ก็ถือได้ว่าเดินมาในเส้นทางสายงานเขียนแล้ว เพราะชื่นชอบอยากเป็นนักเขียน เป็นนักข่าว มาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆเที่ยวถือไมค์ของเด็กๆวิ่งไล่ไปสัมภาษณ์ใครต่อใคร เลือกคณะวารสารฯเป็นดับหนึ่ง
ก็มาทำงานเป็นนักข่าวสายท่องเที่ยวยาวนานเกือบ 30 ปี (ตั้งแต่ปี 2529) ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เริ่มจากเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า แล้วย้ายมาอยู่เครือเนชั่นยาวนาน ผ่านงานทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ จนเป็นตำแหน่งสุดท้าย หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจของกรุงเทพธุรกิจ และผันตัวมาช่วยงานอีเว้นท์ของเครือระยะหนึ่ง แล้วจึงลาออกมาเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คอย่างเต็มตัว และเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ คมชัดลึกทุกวันเสาร์ ชื่อคอลัมน์ “ตะลอน ตะลอน” และหนังสือพิมพ์มติชน วันศุกร์ชื่อคอลัมน์ “เที่ยวท่องไทยไปกับสาธิตา”
ปัจจุบันเห็นว่าทำงานให้ภาคส่วนท่องเที่ยวหลายส่วน
ใช่ค่ะ ทำเยอะมาก จนงงว่าตัวเองมีเวลาอย่างไร ทั้งเดินทางด้วย ทำงานด้วย ปัจจุบันเป็นรองประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว เรามีสมาชิกหลายร้อยคนเป็นสื่อด้านท่องเที่ยว มีกิจกรรมนำเที่ยวกันตลอด และเป็นอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย คือต้องพยายามทำให้องค์กรสภาฯเป็นที่รู้จักและมีบทบาทด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ประธานชุดนี้ได้เชิญไปร่วมด้วย
ที่ผ่านมายังเป็นอนุกรรมการพัฒนาธุรกิจ องค์การสวนสัตว์ อนุกรรมการพัฒนาธุรกิจ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว หลายปี เป็นคณะกรรมการอำนวยการประกวด Thailand Boutique Awards โครงการประกวดสำหรับโรงแรมขนาดกลางและเล็กด้วย
เริ่มเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คจริงจังตอนไหน
ตอนที่อยู่เนชั่นก็เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คมาตลอด ทั้งเขียนให้เครือเนชั่นและเขียนของตัวเอง เพราะเราเป็นนักข่าวสายท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำข่าวท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ซึ่งก็คือที่ตั้งของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในตอนนี้ สมัยนั้นจำได้ว่า นักข่าวสายท่องเที่ยวยังมีไม่เยอะนัก เราเดินทางกันตลอด ไปไหนก็จะเฮฮามาก และยังเป็นนักข่าวกระทรวงคมนาคมด้วย รับผิดชอบ 2 หน่วยก็ข้ามไปข้ามมา เพราะอยู่ติดกัน เลยทำให้ได้รู้เรื่องของการบิน การขนส่งในแบบอื่นๆไปด้วย
ทำไมถึงเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คมากขนาดนี้
ที่จริงเขียนเฉพาะเรื่องท่องเที่ยวประมาณ 25 เล่ม แต่ก็มีอีกหลายเล่มที่ไม่ได้นับ เช่นแนวสุขภาพ ตัวเองเป็นหนึ่งผู้ก่อตั้งคลัสเตอร์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วย เพราะรู้จักกับหมอเยอะและชอบด้านนี้ และยังมีเรื่องเกี่ยวกับคนดังหลายเล่ม เพราะทำงานเป็น Ghost Writer หรือนักเขียนเบื้องหลังคนดัง ที่เขาแปลกันว่านักเขียนผี เราจะทำงานเขียนให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาเขียนเอง (แต่ที่จริงเราเขียนให้) จนเคยได้รับการเลือกจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาสัมภาษณ์เป็น 1 ใน 3 นักเขียนคนดังประเภท Ghost Writer ของเมืองไทย
นี่ยังไม่นับแนวเศรษฐกิจอีกหลายเล่ม เพราะผ่านการเป็นนักข่าวเศรษฐกิจ เลยชอบแนวเศรษฐกิจมาก เศรษฐกิจเป็นรากฐานของทุกสาขาเลยก็ว่าได้ การที่เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คมากส่วนหนึ่งเพราะเราทำข่าวด้านเศรษฐกิจมายาวนาน ได้รู้ลึกซึ้งในหลายด้าน พร้อมๆกับหัดเป็นคนรอบคอบ ระแวดระวังไปด้วย งานเขียนทุกชิ้นของท่องเที่ยวบอกได้เลยว่ามาจากพื้นฐานเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจ
ที่เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยวเยอะ เพราะมีเรื่องให้เขียนเยอะ (หัวเราะ) มันมีอะไรเขียนได้ไม่จบสิ้น อย่างแหล่งท่องเที่ยวเราไปดูวันนี้ อีก 1 ปีผ่านไปก็ไม่เหมือนเดิม จึงเขียนใหม่ไปได้เรื่อยๆ และมี Theme ใหม่ๆเข้ามาจับ เช่นททท.เขามี Theme โปรโมทการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปตลอด เราก็ไปจับตรงนั้นด้วย เพราะส่วนหนึ่งททท.ก็สนับสนุนเราหลายเล่ม เช่น 12 เมืองต้องห้ามพลาด หลงรักประเทศไทย ท่องเที่ยววิถีไทย เป็นต้น
สไตล์การเขียนเป็นอย่างไร
จริงๆจะไม่เขียนแนวสายลม แสงแดด เพ้อฝัน แต่จะเขียนเป็น Fact แล้วให้ข้อมูลรายละเอียดมากกว่า คนที่ติดตามงานเขียนของสาธิตาจะไม่ค่อยเห็นแนวเขียนเบาๆมากนัก เพราะเรามีพื้นฐานการเขียนแนวเศรษฐกิจ และไม่เขียนอธิบายอะไรยืดยาว เพราะสไตล์คนอ่านหนังสือท่องเที่ยวจะเน้นรูปและบทความที่ไม่ยาวนัก
หลังๆจะเชิญเพื่อนๆพี่ๆในวงการท่องเที่ยวมาร่วมเขียนด้วย เพราะอยากได้ความหลากหลายของแต่ละท่าน อาจจะรวมกัน 6 คน 12 คน ในหลายเล่มเช่น หลงรักอีสาน ตามนักเขียนเรียนรู้วิถีไทย 12เมืองต้องห้ามพลาดฯลฯ
ใช้เวลาในการเดินทางและการเขียนอย่างไร
ในปีหนึ่งๆจะเดินทางครึ่งหนึ่ง แล้วกลับมาเขียนและทำงานอื่นๆครึ่งหนึ่ง เช่นในแต่ละวีค เราออกเดินทาง 4 วัน กลับมาเขียนเรื่อง 3 วัน เพราะต้องเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งก็มีทั้งทริปที่มีผู้เชิญไปและทริปที่ต้องเดินทางเอง และปัจจุบันมีธุรกิจเล็กๆคือบริษัทที่รับงานพิมพ์และงานออกการ์ไนซ์ที่ต้องดูแลด้วย (ขอย้ำว่ายังเล็กมากๆ) เพราะอยากตามเทรนด์เป็นเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการหน้าใหม่
มีเรื่องราวอะไรประทับใจในระหว่างการเดินทาง
ประทับใจทั้งแหล่งท่องเที่ยวและผู้คนที่ได้ไปพบเจอ หลายครั้งที่เหนื่อยมาก แต่พอเห็นความงามของธรรมชาติแล้วถือว่าคุ้มแสนคุ้ม เช่น ที่กิ่วแม่ปาน บนยอดดอยอินทนนท์ เดินป่าเข้าไปไกลมาก พอไปเห็นจุดชมวิวที่สูงเหนืออื่นใดในสยามทั้งปวง ยืนอยู่เหนือเมฆเท่านั้น หลายเหนื่อยเลย หรือจะเป็นเกาะตาชัย ที่ต้องนั่งสปีดโบ๊ทไปไกลมาก แต่ทรายขาวมาก น้ำใสแจ๋ว หรือที่หินปลาวาฬ บึงกาฬ เป็นหินมหัศจรรย์ก้อนใหญ่ยักษ์เหมือนปลาวาฬมากๆ
ในต่างประเทศก็มีหลายที่ เช่น มุยเน่ในเวียดนาม เป็นทะเลทรายที่เหมือนไปแถวตะวันออกกลางเลย สวยไม่แพ้กัน แต่ใกล้ไทยแค่นี้เอง หรือที่ฟลอริดาในสหรัฐ เป็นเมืองพักผ่อนที่ชีวิตสนุกสนานมาก ไปช่วงหน้าร้อน 3 ทุ่มยังไม่มืดเลย ทำให้มีเวลาทำอะไรและเที่ยวได้เยอะ และอีกที่คือมัลดีฟส์ไปมา 5 ครั้งแล้วไม่เบื่อเลย ชีวิตสบายๆริมทะเลได้ทั้งวัน
มีอีกเรื่องที่ประทับใจคือพ็อคเก็ตบุ็ค 2 เล่มได้รับคำนิยมจากนายกรัฐมนตรี อีก 7 เล่มได้รับคำนิยมจากผู้ว่าการททท.
และความภูมิใจอีกอย่างคือเคยได้รับเลือกเป็นนักข่าวเพียงคนเดียวให้เป็นคณะกรรมการตัดสินผู้ว่าราชการจังหวัดดีเด่นประจำปีของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
มีอะไรตื่นเต้นผจญภัยบ้างไหม
จำได้ว่าสมัยเปิดตัวพ็อคเก็ตบุ๊ค 3 เล่มของตัวเองพร้อมกัน ช่วงนั้นยังอยู่เนชั่น และ3 เล่มนั้นททท.ทำงานร่วมกับเนชั่นแต่ให้เราเขียน จัดงานเปิดตัวให้ที่สยามนิรมิต เป็นช่วงปิดสนามบินสุวรรณภูมิพอดี วุ่นวายโกลาหลไปหมด ว่าจะจัดงานได้หรือไม่ นักเขียนที่ร่วมเขียนด้วยอีกท่าน สุชาติ ศรีตะมา ก็ติดอยู่สนามบินในสิงคโปร์กลับมาไม่ได้ เพราะสนามบินเราปิด แต่ในที่สุดท่านผู้ว่าพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าททท.ท่านก็มาเปิดตัวให้ จนในที่สุดผ่านพ้นไปด้วยดี
หรือเป็นเรื่องราวความลี้ลับ ของโรงแรมบางแห่งที่ไปพบเจอ กับโรงแรมเล็กๆแถวยุโรปในแถวชนบท จะว่าเป็นคนกลัวผีก็กลัว แต่ก็ยังชอบเดินทาง มักจะต้องพยายามสวดมนต์นอนหลับให้ได้ จริงๆแล้วจะชอบเดินทางเที่ยวคนเดียวหรือที่เรียกว่าสไตล์ Solo Traveller มาก ก็ยังยอมรับว่าการเดินทางคนเดียวของผู้หญิง ต้องระแวดระวังมากหน่อย
มุมมองกับการรวมตัวของชาติอาเซียน
เป็นสิ่งที่ดีมาก อยากให้มีมานานแล้ว จะทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างกันง่ายขึ้น จริงๆตัวเองได้เดินทางครบทุกประเทศในอาเซียนแล้ว ได้เห็นความหลากหลายมาก ความแตกต่างมาก ความเหมือนมาก เรียกว่าครบทุกอย่างแล้ว ต่อไปคงจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับทุกประเทศในอาเซียน
ตอนนี้พยายามเดินทางเที่ยวแบบ Budget ไปในทุกๆประเทศอาเซียน อยากจะทำเป็นไกด์บุ๊คให้ผู้อ่านเห็นว่า ถ้าคุณมีเงินสักแค่1หมื่นบาท คุณจะเที่ยวเมืองไหนได้ เมื่อรวมหมดทั้งค่าเครื่องบิน กิน พัก เพราะเมื่อเปิดเสรี หลายคนคงอยากเที่ยวหลายประเทศในงบจำกัด จะทำได้อย่างไรเป็นต้น
เห็นว่าตั้งกลุ่ม Media & Blogger 8 Thailand ขึ้นมาเป็นอย่างไร
เป็นการรวมตัวกับน้องๆอีก 7 คน เมื่อรวมกับเราก็กลายเป็น 8 คน มี มิ้นท์ อาร์ท เล็ก ปุ๋ม แซงค์ อ๋อง น้ำ และตา ทุกคนจะมีจุดเด่นต่างกันไป คือ 1 มณฑล กสานติกุล (มินท์)มินท์ หรือ I Roam Alone Solo Traveler ผู้หญิงที่เที่ยวคนเดียวกว่า 70 ประเทศทั่วโลก 2 พลกฤษณ์ ถมยา (อาร์ท ถมยา) The Crooning Traveller นักเดินทางที่ชื่นชอบการขับร้องเพลงไปพร้อมกับการท่องเที่ยว 3 สุรีพร แซ่ว่อง (เล็ก) Fusion Foods and Travel Blogger บล็อกเกอร์ไทยเพียง 1 เดียวได้รับเลือกสัมภาษณ์ทูตสหรัฐ 4 ชาธร โชคภัทระ (อ๋อง) Indy Traveler นักเดินทางท่องเที่ยวอาเซียนที่มีผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คอาเซียนถึง 50 เล่ม
5 ธนะชัย ศรีแสง ( แซงค์ ชายคาตะวัน ) บล็อกเกอร์ดังด้านรีวิวโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว ขอเพียงให้ใจสั่ง ขาก็จะพาไป 6 ณิชชญาณ์ โตสงวน (ปุ๋ม) The Wanderer รักการท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและวิถีชีวิต 7 ณีรนุช ไตรจักร์วนิช (น้ำ) Travel Journalist พิธีกรรายการทีวีภาคภาษาอังกฤษที่เดินทางไปทุกหนทุกแห่ง และตัวเราเอง 8 สาธิตา โสรัสสะ(ตา) The Travelista (Travel is Ta) 365 วันของฉันมีแต่เรื่องการเดินทาง
ปัจจุบันบล็อกเกอร์เป็นอะไรที่ได้รับความนิยมมาก เราก็เลยมองตามเทรนด์โลก และเราก็มี FB กลุ่มด้วยชื่อ Media&Blogger8 Online&Offline Travel Blog ซึ่งพวกเราเองเพิ่งตั้งกลุ่มได้ 3 เดือน แต่ก็มีคนเชิญเราไปเยอะมาก เราไปแต่ละทริปก็ทำงานกันเต็มที่ ทำยอด Like ใน Facebook ให้ทุกที่ที่เชิญเราไปอย่างมากมาย เช่นที่นครพนม เราก็ทำยอด Like ให้ถึงกว่า 14,000 Likes
งานอดิเรกอื่นๆ
ด้วยความชื่นชอบดนตรีตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเป็นนักดนตรี ก็เลยให้ลูกๆทุกคนเล่นดนตรี พี่น้องป้วนเปี้ยนเข้าออกโรงเรียนดนตรีสยามกลการตั้งแต่เด็ก และตัวเองสามารถคว้าแชมป์อิเลคโทนประเทศไทยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน
ปัจจุบันมีการแสดงดนตรีบ้าง และยังเล่นดนตรีเป็นผู้อำนวยการเพลงและบรรเลงอิเลคโทนประกอบเพลงมหัศจรรย์เมืองไทย และ Miracle Thailand ของททท.
สมัยเป็นนักศึกษายังสามารถคว้าเหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัยจากกีฬาประเภทปืนยาวอัดลม
งานอดิเรกนอกจากยิงปืนและเล่นดนตรีแล้ว ยังชอบการถีบจักรยานไปทั่วเมืองไทย
นั่นทำให้ชีวิตคือ 3 สิ่งทั้ง “เดินทาง ดนตรี และกีฬา”
ปิดท้ายกับผู้ที่อยากเข้าสู่งานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยว
ไม่มีอะไรยากเลย หากอยากเป็นนักเขียน ที่สำคัญต้องชอบการเขียน ถ้าจะเขียนเรื่องท่องเที่ยวก็ต้องเดินทางไปด้วย เพราะ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” และนอกจากเขียนดี ควรจะถ่ายภาพให้มีองค์ประกอบน่าสนใจและสวยงาม
ตอนนี้อยากเชิญชวนให้ท่องเที่ยวในเมืองไทย เพราะด้ามขวานทองแห่งนี้มีที่เที่ยวทั่วตั้งแต่เหนือจรดใต้ พร้อมกับเชิญชวนว่า “ตัวหนังสือพันคำ ไม่เท่าภาพๆเดียว จึงต้องเดินทางไปเที่ยวด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าเมืองไทยงดงามเพียงใด”
ชาธร โชคภัทระ หนุ่มชีพจรลงเท้า
ความเป็นมาก่อนจะมาเป็นนักเขียน
นักเขียนและนักเดินทางที่น่าสนใจคนต่อไป คือชาธร โชคภัทระ หรือที่ในวงการท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อเล่นว่า อ๋อง หนุ่มนักเขียนอารมณ์ดีที่มีรอยยิ้มเปื้อนหน้าอยู่เสมอ แม้จะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เขาก็แทบไม่ได้อยู่กรุงเทพฯเลย เพราะชีพจรลงเท้าตลอด ออกเดินทางไปทั่วประเทศ ครบทุกประเทศในอาเซียน และเดินทางมาแล้ว 28 ประเทศ เกือบทุกทวีป จนมีผลงานพ็อกเกตบุคออกสู่สายตานักอ่านมาแล้วไม่น้อยกว่า 59 เล่มตลอด 16 ปีที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการท่องเที่ยวมา
“จริงๆ ตั้งแต่เด็กแล้ว ผมไม่เคยฝันอยากเป็นนักเดินทาง หรือนักถ่ายภาพอะไรทำนองนี้เลยครับ เพียงแต่เห็นคุณพ่อที่เป็นช่างภาพ ท่านออกเดินทางทุกเดือน ก็เลยคงจะรู้สึกประทับใจ รู้สึกสนุก เห็นการทำงาน เห็นแนวทางชีวิตของพ่อ จำได้ว่าที่บ้านตอนเด็กๆ ผมเล่นกล้อง เล่นม้วนฟิล์ม แทนหุ่นยนต์หรือรถของเล่น ซะด้วยซ้ำ (หัวเราะ) และพอโตขึ้นก็ได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วการเดินทางหรือการถ่ายภาพมันมากกว่าความสนุก เพราะมันเป็นงานที่มีคุณค่า ทั้งต่อตัวเราเองแลสังคม ได้เปิดโลกทัศน์ เห็นโลกในแง่มุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
สิ่งที่หล่อหล่อมจนมาเป็นนักเดินทางทุกวันนี้
“ผมว่าอีกอย่างที่หล่อหลอมให้ผม กลายเป็นนักเดินทางแบบทุกวันนี้ คือการอ่านมาก และการดูสารคดีทางโทรทัศน์มากตั้งแต่เด็กเลยครับ เพราะที่บ้านผมทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และน้าๆ อีก 6 คน ต่างก็ชอบอ่านหนังสือกันทั้งนั้น ทุกห้องในบ้านผมจึงเต็มไปด้วยหนังสือนานาชนิด ผมก็เริ่มจากการหยิบมาเปิดดูรูปเพลินๆ ด้วยความเป็นเด็ก ทว่านั่นคือการซึมซับเข้าไปใน DNA ของเราโดยไม่รู้ตัว (หัวเราะเสียงดัง) เรียกว่าเป็นการท่องโลกผ่านภาพและตัวหนังสือครับ อีกอย่างคือ สมัยเมื่อสัก 30-40 ปีก่อน ผมจำได้แม่น ว่ารายการโทรทัศน์ไทยมีเรื่องสารคดีเจ๋งๆ ฉายเยอะกว่าทุกวันนี้อีก เพราะทุกวันนี้เขาเน้นไปทางบันเทิง คุณพ่อจะชวนผมดูสารคดีต่างๆ ทั้งสัตว์ป่า, โบราณคดี, ธรรมชาติ, อวกาศ, สถานที่สำคัญต่างๆ ของโลก ฯลฯ นั่นล่ะ คือจุดเริ่มต้นของเด็กชายคนหนึ่งที่อยากออกไปท่องโลกล่ะครับ”
เห็นว่ามีชีวิตที่ผกผันมากก่อนจะมาเป็นนักเขียน
หลังจากชาธรเรียนจบมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 2 สาขาภาษาอังกฤษ เขาก็ฝันอยากจะเป็นนักข่าวสงครามไปทำงานประจำอยู่ตะวันออกกลาง แต่ชีวิตกลับผกผัน ได้ไปทำงานโครงการสำรวจช้างป่าอยู่เขาใหญ่แทน! ต่อมาก็เปลี่ยนงานอีกหลายงาน จนได้ไปเป็นหนุ่มแบงค์ ฝ่ายบัตรเครดิต ทำงานอยู่ 3 ปีครึ่ง ด้วยความเบื่อหน่าย เพราะรู้สึกว่าตรงนั้นมันไม่ใช่ที่ของเขาเลย เหมือนถูกขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม จนได้ทีสมัครกรมป่าไม้ ไปสำรวจสัตว์ป่าอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ-นาสัก อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง อยู่ 1 ปีเต็ม
“ผมว่าถ้าไม่มี 1 ปีในป่าตอนนั้น ก็ไม่มีผมวันนี้ครับ (หัวเราะเสียงดังกว่าเก่า) เพราะชีวิตวัยหนุ่มในป่า 1 ปี มันสุดๆ ได้ฝึกฝนตนเองหลายอย่าง ได้ฝึกถ่ายภาพอย่างจริงจัง ฝึกเขียนหนังสือ ฝึกวาดภาพสีน้ำแนว Botanical Artist คือที่ระนองฝนตกหนักมาก บางสัปดาห์ฝนตกต่อกัน 7 วันจนออกไปสำรวจสัตว์ป่าไม่ได้เลย ผมก็เลยเก็บดอกไม้ป่ามาวาดภาพสีน้ำแนวเหมือนจริง กระทั่งวันหนึ่งออกไปสำรวจปลาในลำธารกลางป่า ได้ค้นพบปลาชนิดหนึ่งเป็นปลาตะเพียนหางแดง เลยติดต่อให้กรมประมงมาพิสูจน์ ปรากฏว่ามันเป็นชนิดใหม่ของโลก! นี่ก็เป็นความภูมิใจเล็กๆ อย่างหนึ่งสมัยอยู่ป่าครับ
แล้วเริ่มงานเขียนจริงจังตอนไหน
“แต่ความสุขในป่าก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะโครงการสำรวจสัตว์ป่านี้มันแค่ 1 ปี จากนั้นผมก็เริ่มเป็น Freelance เริ่มใช้ความสามารถการเขียนและถ่ายภาพสร้างผลงาน ผจญภัยในวงการหนังสือ ผมเริ่มใช้ชีวิตเป็นนักเขียนเต็มตัวจริงๆ กับ พี่หน่อย ดวงดาว สุวรรณรังสี บรรณาธิการเก่าของ อสท. ซึ่งท่านออกมาเปิดนิตยสารท่องเที่ยวเองชื่อ Nature Explorer โอกาสที่ท่านให้ ทำให้ผมได้เดินทางทั่วประเทศ และไปต่างประเทศด้วย อย่างเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นดินแดนมหัศจรรย์จริงๆ เพราะภูมิประเทศประหลาดสุดๆ แถมยังมีสัตว์กับพืชเฉพาะถิ่นอีกเป็นพันชนิด ซึ่งมีแห่งเดียวในโลกที่เกาะนี้เท่านั้น ทีมงานของเราได้ไปสำรวจที่นั่นจากเหนือจรดใต้อยู่ถึง 15 วัน สนุกมากๆ ครับ”
จริงๆ ตอนทำงานประจำในนิตยสารท่องเที่ยว ชาธรมีตำแหน่งเป็นเพียงนักเขียน ไม่ใช่ช่างภาพ แต่เขารู้สึกชอบการถ่ายภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงฝึกฝนเอง ใช้ครูพักลักจำ จนต่อมานิตยสารที่ทำอยู่ปิดตัว เลยออกมาเป็น Freelance สายท่องเที่ยวอีกครั้ง
จากนักเขียนประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ได้อย่างไร
“ชีวิตการเป็น Freelance มันทั้งสนุก ทั้งโหด บางคนมองว่าเป็นงานอิสระที่ไม่มีเจ้านาย แต่ผมขอบอกว่าไม่ใช่ครับ เจ้านายเยอะกว่าตอนทำงานประจำเสียอีก! (หัวเราะเสียงดังมาก) เพราะคนที่เราไปดิวงานด้วยทุกคนคือเจ้านายหมดเลย! แต่มันก็สนุก เพราะหลักๆ เรากำหนดชีวิตเราเองได้ ทว่าต้องเป็นคนมีระเบียบวินัยในการทำงานสูง รู้จักวางแผน และคบคน ผมถูกโกงมาเยอะนะ ประเภททำงานให้แล้วเบี้ยวไปเลย ไม่ยอมจ่าย!
“งานหลักของผมทุกวันนี้ คือการเดินทางทั้งในและต่างประเทศครับ เพื่อนำเนื้อหาและภาพสวยๆ กลับมาทำพ็อกเกตบุค ให้คนอ่านได้เป็นแรงบันดาลใจออกไปท่องเที่ยวตามอย่างเรา เพราะจริงๆ แล้ว โลกที่แต่ละคนมองมันย่อมต่างมุม สมมติว่าผมไปเที่ยวลาว ลาวที่ผมเห็นจะเป็นแบบหนึ่ง แต่อีกคนอาจมองในมุมอื่นก็ได้ พี่กาญจนา หงษ์ทอง นักเขียนสาวชื่อดังซึ่งสนิทกับผม เคยถามผมว่า ถ้าให้เลือก 1 ประเทศในโลกที่อยากไปเที่ยวที่สุด จะเลือกประเทศอะไร? ผมตอบทันทีแบบไม่คิดคือ อินเดีย เพราะผมมองอินเดียในแง่ความงามทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มันดิบๆ ดี เรียบง่าย พอเพียง ถ่ายภาพก็สนุก มีสีสันเยอะไปหมด แต่บางคนมองว่าอินเดียสกปรกมีแต่ขอทาน นี่ก็คือตัวอย่างว่า มนุษย์เรามองโลกต่างกัน ตามแต่ประสบกาณ์และความต้องการในมโนสำนึกจะหล่อหลอมเขามาครับ เชื่อไหมไปเที่ยวอินเดียผมชอบถอดรองเท้าเดิน มันติดดินดี นี่ล่ะตัวผม
เห็นว่าเป็นเจ้าของเวบไซต์เองแล้ว
“ผมเติบโตมาจากยุคที่การทำหนังสือรุ่งเรืองสุดขีด เป็นยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มี Line ไม่มี Facebook การจะดังไม่ดัง จะขายดีไม่ดี เขาวัดกันที่เนื้อหา (Content) จริงๆ เราเลยต้องเขียนให้ดี ใช้ภาษาวรรณศิลป์ให้ดีที่สุด ผิดกับยุคนี้ที่โลกอินเตอร์เน็ททำให้วงการหนังสือซบเซาไปมาก รูปแบบการเขียนในบล็อกหรือเว็บต่างๆ มันก็ลดทอนความละเมียดละไม หรือแม้กระทั่งความยาวในการเขียนลงมาก! เพราะคนอ่านเปลี่ยนไปแล้ว
ทุกวันนี้ผมเลยสร้างงานใหม่ให้ตัวเอง โดยเริ่มทำเว็บไซต์ www.gotravelphoto.com เพื่อตอบสนองคนอ่านอีกกลุ่ม คือคนที่มีเวลาน้อย ไม่ได้เข้าร้านหนังสือ แต่สามารถดูข้อมูลท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจากเว็บผมได้ครับ ส่วนใครที่ยังรักชอบหนังสือ อยากอ่านแบบยาวๆ เชิงประสบการณ์ เชิงอ่านเอาเรื่อง ก็ยังเดินเข้าร้านหนังสือหาพ็อกเกตบุคผมอ่านได้ไม่ขาด เพราะผมตั้งเป้าไว้เลย ว่างานสัปดาห์หนังสือทุกครั้ง จะต้องมีหนังสือใหม่ผมในงานออกวางขายอย่างน้อย 1 เล่ม ซึ่งผมก็ทำได้มาตลอดครับ
“จำนวนพ็อกเกตบุคที่ผมเขียนอาจจะดูเยอะ จนบางคนไม่เชื่อว่าคนอายุแค่ 43 จะเขียนมาแล้ว 59 เล่มได้ไง? โกหกแน่นอน อันนั้นผมไม่ว่า แต่จำนวนไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ผมได้ทำงานที่ผมรัก และคนอ่านได้ชิ้นงานที่ดีที่สุด ที่ผมตั้งใจทำที่สุดเสมอ สำนักพิมพ์ต่างๆ จึงยอมรับงานไปพิมพ์ให้ผม ซึ่งนั่นก็เป็นความภูมิใจเล็กๆ ของนักเขียน นักเดินทาง และช่างภาพอิสระอย่างผมล่ะครับ”
ทุกวันนี้ชาธรยังคงออกเดินทางตามฝันไปเรื่อยๆ เขาพูดเสมอว่า “ผมไม่ใช่ช่างภาพ เพราะผมเป็นแค่นักเขียนที่บังเอิญถ่ายภาพได้เท่านั้น คำว่าช่างภาพมันสูงส่งเกินไปสำหรับผม”
ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาในแง่มุมไหน รู้จักเขาในบทบาทอะไรก็ตาม ชาธร โชคภัทระ คืออีกหนึ่งนักเขียนที่ทุ่มทั้งชีวิตให้งานนี้อย่างแท้จริง และหวังว่า เรื่องราวของเขาคงจะเป็นเมล็ดพันธุ์ หรือแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ที่กำลังอยากจะเริ่มเดินบนถนนสายนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจ ไม่มากก็น้อย
นี่คือเรื่องราวของ 2 นักเขียน
ซึ่งคงเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคนที่อยากทำงานเขียนบ้าง ไม่มากก็น้อย