ได้รับการเชื้อเชิญจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม ไปชมนครพนม เมืองแห่งวิถีชนเผ่า แดนดินถิ่นสนุก จะพลาดได้อย่างไร
กลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) รวมตัวกันภายใต้โครงการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำโขง (ธรรมะ ธรรมชาติ วัฒนธรรม) สู่สากล โดยนำวิถีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความโดดเด่นในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก อันได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มาสร้างสรรค์ พัฒนาเป็นสินค้ากิจกรรมทางการท่องเที่ยวเพื่อนำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในแต่ละพื้นที่
แม้ว่าชาวอีสานจะมีพื้นเพมาจากคนหลายกลุ่ม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แต่ด้วยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ยึดมั่นในจารีตประเพณีของท้องถิ่นที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" จึงทำการดำเนินชีวิตด้วยความสมานฉันท์ปรองดอง ประกอบสัมมาอาชีพอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขมายาวนาน
กลุ่มจังหวัดสนุก อันประกอบด้วย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร (เดิมรวมจังหวัดกาฬสินธุ์) นั้นมีความโดดเด่นด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ถึง 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชนเผ่า ไทยลาว(อีสาน) ผู้ไทย ไทยย้อ ไทยโส้ (กะโซ่) ไทยกะเลิง ไทยข่า (บูร) ไทยกวน ไทยแสก ไทยโย้ย เชื้อชาติจีนและเวียดนาม ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยกระจายกันอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาประจำถิ่นที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เทศกาล งานประเพณี พิธีกรรมด้านความเชื่อและความศรัทธา โดยเฉพาะงานหัตถศิลป์อันยอดเยี่ยม เช่น งานทอผ้า งานใบตอง งานจักสาน งานเพลง งานดนตรี การแสดง การขับร้อง และศิลปะการทำอาหาร ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะถิ่นในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข
นายรัชต สำราญชลารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม จึงจัดกิจกรรม “มหกรรมท่องเที่ยววิถีชนเผ่า งานศิลป์ถิ่นสนุก” ขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และสร้างเครือข่ายทางการท่องเที่ยวให้เกิดสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ถนนสุนทรวิจิตร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
โดยมีการนำเสนอวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และงานศิลป์ด้านต่างๆ ได้แก่ หัตถศิลป์ คีตดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ เมนูอาหารเด่นประจำแต่ละจังหวัด เมนูเอกลักษณ์อาหารแต่ละชาติพันธุ์ที่หายาก ชมการแสดงวิถีวัฒนธรรม และศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังชาวอีสานที่สืบสานงานเพลงไว้อย่างน่าชื่นชม
นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “มหกรรมท่องเที่ยววิถีชนเผ่า งานศิลป์ถิ่นสนุก” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด SANUK IS WONDERFUL มหัศจรรย์ถิ่นสนุก โดยใช้สโลแกน “สะออนคัก ฮักเมืองสนุก” อาทิ มหัศจรรย์ของกิน@ถิ่นสนุก (Wonderful Taste) มหัศจรรย์สินค้า@ถิ่นสนุก (Wonderful Products) มหัศจรรย์สนุกรู้วิถีศิลป์ ถิ่นสนุก (Wonderful Land of Art) มหัศจรรย์เที่ยวสุดฟิน@ถิ่นสนุก (Wonderful of Life) มหัศจรรย์ธรรมชาติ มหัศจรรย์แดนธรรมะ มหัศจรรย์วิถีถิ่น เป็นต้น
ในทริปนี้เรามีโอกาสได้ไปชมชนเผ่าต่างๆถึง 3 ชนเผ่า เริ่มที่ ท่าอุเทนเป็นถิ่นฐานของชาวไทยย้อหรือไทยญ้อ ซึ่งถิ่นฐานเดิมของไทยญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาวหรือจังหวัดล้านช้างของไทย ต่อมาได้มาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนเมื่อ พ.ศ. 2373 คือบริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
จากนั้นมาชมพระธาตุท่าอุเทน (ตอนนี้กำลังซ่อม เลยขอเอารูปที่เคยไปมาก่อนหน้านี้มาให้ชม) พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง จ พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ และเชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ
และยังมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมภูมิ-มูนมัง ศูนย์ข้อมูลย่านชุมชนเก่าท่าอุเทนอีกด้วย
ก่อนไปเยี่ยมชมไทยข่า ที่อาศัยในเขตอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ไทยข่ามีถิ่นดั้งเดิมอยู่แขวงสุวรรณเขตสาละวัน และอัตปือ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
ได้ทานอาหารกลางวันกันแบบพาข้าว แล้วนั่งอีแต๊กชมทุ่ง รวมถึงการแสดงพิธีเหยา (การเลี้ยงผีหมอ) การแสดงเส็งกลองหาง การแสดงฟ้อนปะลองแคนเกียวกะมูน (รำฟ้อนเกี้ยวสาว)
ชาติพันธุ์อีกหนึ่งที่ไปชมคือชาวไทโซ่ หรือ ไทยโส้ เป็นชนกลุ่มหนึ่งในจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร รวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในอำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งอพยพมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว ไทยโส้ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษา พูด ที่ฟังดูแล้วจะคล้ายๆ กับภาษาเขมร หากไม่ใช่คนในอำเภอกุสุมาลย์ หรือไม่มีความรู้ในเรื่องของภาษาโส้ จะไม่สามารถทราบความหมายได้เลยว่า คู่สนทนาของตนพยายามจะสื่ออะไร เพราะว่าในตัวของภาษาจะฟังยากเอาการ
ชุดประจำเผ่า จะเป็นชุดสีดำ เสื้อทรงกระบอกแขนยาวสีดำแต่งชายและแขนเสื้อด้วยสีแดง ส่วนผ้าถุง เป็นผ้าถุงยาวสีดำเช่นกัน ต่อชายผ้าถุงด้วยผ้าซิ่นลวดลายต่างๆ เครื่องประดับเป็นเครื่องเงินทั้งหมด มีสร้อยคอ เข็มขัด ต่างหู ดูแล้วสวยงามมาก พร้อมชมการแสดงโส้ทั่งบั้ง
ก่อนไปแวะเที่ยวแลนด์มาร์คของนครพนม ลานพญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์คอันศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครพนม องค์พญาศรีสัตตนาคราช หล่อด้วยทองเหลือง มีน้ำหนักรวม 9,000 กก. เป็นรูปพญานาคขดหาง 7 เศียร ประดิษฐานบนแท่นฐานแปดเหลี่ยม กว้าง 6 เมตร ความสูงทั้งหมดรวมฐาน 15 เมตร สามารถพ่นน้ำได้
การก่อสร้างครั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อเกี่ยวต่อเรื่องพญานาคของชาวไทย และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแลนมาร์กแห่งใหม่อีกจุดหนึ่งของภูมิภาคนี้
พร้อมกันนี้ได้ไปวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ประดิษฐาน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดปีวอก
อุโมงค์นาคราช ส่วนหนึ่งของเส้นทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำโขงของจังหวัดนครพนม เพิ่งเปิดได้ราว8เดือน จังหวัดนครพนม มีความหลากหลายมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความงดงามของฝั่งแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดทำเส้นทางจักรยานให้ยาวกว่า 70 กิโลเมตรเลยทีเดียว ซึ่งอุโมงค์นาคราช ก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจักรยานริมแม่น้ำโขงนั่นเอง
คุณสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครพนม และคุณรัชต สำราญชลารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม มาร่วมพาชมอุโมงค์จักรยานด้วย
ก่อนแวะไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยที่หมู่ที่ 1 บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม กับประเทศลาวที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งมีความยาวรวม 1,423 เมตร มีความกว้าง 13 เมตร และมีการช่องจราจร 2 ช่อง และไม่มีทางรถไฟ และเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015
มีโอกาสได้ฟังการเสวนาหัวข้อศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง จัดที่นครพนมโดยมีผู้ร่วมเสวนา คุณสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคอีสาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) คุณสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คุณสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ
ไปเที่ยวอีสานทีไร ชื่นใจทุกครั้ง เมืองแห่งความสุข ความสงบ
ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวได้ที่ Travelista นักเดินทาง