สกว.จัดโครงการพัฒนาทักษะมัคคุเทศก์เพื่อบริการนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา มุ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ต่อยอดความสำเร็จจากการที่นักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตาที่มีความพิการทางสายตา 12 คนจากประเทศอังกฤษได้เข้ามาท่องเที่ยวตามพื้นที่วิจัยของสกว.
โครงการพัฒนาทักษะมัคคุเทศก์เพื่อบริการนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมวาสนา ดีไซด์ โฮเทล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสกว.มีบทบาทสนับสนุนนักวิจัยในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ในการนำงานวิจัยมาพัฒนาเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวและนำเสนอขายสู่ตลาดต่างประเทศอันจะทำให้เกิดประโยชน์จากการนำผลงานวิจัยมาใช้จริง
โครงการนี้เกิดจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ณ งาน World Travel Market London 2016 (WTM) ณ ประเทศสหราชอาณาจักร บริษัท Seable เป็นบริษัทที่จัดนำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา ได้นำนักท่องเที่ยวที่มีความพิการทางสายตา ทั้งหมด 12 ท่านและผู้ช่วยเหลืออีก 4 ท่านจากประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาเยือนประเทศไทย ตามเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่วิจัยของ สกว.ทั้งเหนือและใต้ดังนี้ คือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง รวมทั้งสิ้น 11 วัน
นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือ และบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการนักท่องเที่ยวผู้มีความพิการทางสายตา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ระยะ 20 ปี และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงมีความจำเป็นที่จะจัดโครงการพัฒนาบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านการให้บริการ ในการนี้จึงเห็นความสำคัญมัคคุเทศก์ผู้รับรองนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา ที่เป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่จะทำหน้าที่ให้บริการซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลอย่างระมัดระวังและถูกต้อง จากความสำคัญและความสำเร็จดังกล่าว จึงได้จัดให้มี “โครงการพัฒนาทักษะมัคคุเทศก์เพื่อบริการนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตา” ขึ้น เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากรที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงความต้องการ และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้ที่มีความพิการทางสายตา
เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ที่มีความพิการทางสายตาที่ท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นกลุ่มคุณภาพ และส่วนมากมักไม่เดินทางคนเดียว โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด tourism for all และเป็นแห่งแรกในอาเซียน นับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะสามารถต่อยอดในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และเล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาทักษะมัคคุเทศก์เพื่อการบริการนักท่องเที่ยวผู้พิการทางสายตาว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดอบรมให้มัคคุเทศก์ของประเทศไทยมีศักยภาพสามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความพิการทางสายตา ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มีความพิการทางสายตาฯ ได้รับบริการที่มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการเดินทาง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย และเป็นต้นแบบของการต่อยอดการนำผลผลิตงานวิจัยสู่ใช้ประโยชน์ ของ สกว.
ภายในงานยังมีการบรรยาย หัวข้อ “ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการทางสายตา” โดย รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และบรรยาย หัวข้อ “Research & Tourism For All” โดย คณะนักวิจัย สกว.ได้แก่ 1. ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช นักวิจัย โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์และวิถีของท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 2. ดร.นราวดี บัวขวัญ นักวิจัย โครงการการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 รัฐ (กลันตัน เปรัค เคดาห์ และเปอร์ลิส) ประเทศมาเลเซีย ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่อาเซียน) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล 3. ผศ.ดร.ประกอบศิริ ภักดีพินิจ นักวิจัย โครงการพัฒนาศักยภาพล้านนาตะวันออกเพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยพะเยา และ 4. อาจารย์ฉัตรฉวี คงดี นักวิจัย โครงการผลักดันผลผลิตการวิจัยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ปี 2560 มหาวิทยาลัยเนชั่นอีกด้วย