องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลานำคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการนำเที่ยวเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
เพื่อเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และชวนเที่ยวชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เปิดเผยว่า จากการที่ อพท. ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในปี ๒๕๖๑
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท่องเที่ยว ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในสร้างรายได้และการกระจายรายอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นำมาสู่ความสามัคคีปรองดองและความสงบสุขในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจและมิตรภาพให้กับเจ้าบ้านและผู้มาเยี่ยมเยือน นำมาสู่ความเชื่อมั่นในการเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์ความงดงามของแหล่งท่องเที่ยว วิถีวัฒนธรรมและมิตรไมตรีของคนในพื้นที่มากขึ้น
อพท. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวไปแล้ว ดังนี้ ประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับชุมชนท่องเที่ยว 32 ชุมชนในพื้นที่ ประเมินศักยภาพทางการท่องเที่ยวเพื่อคัดเลือกชุมชนนำร่องเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาหนุนเสริมให้เป็นต้นแบบในปีนี้ จำนวน 6 ชุมชน
ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนบางปู ชุมชนทรายขาว จังหวัดปัตตานี หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จังหวัดยะลา ชุมชนวัดชลธาราสิงเห และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จังหวัดนราธิวาส จัดอบรมหลักสูตร การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ ให้แก่ชุมชนนำร่องและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัด
เพื่อสร้างความเข้าใจการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนรวมถึงการเชื่อมโยงสู่ตลาดการท่องเที่ยว โดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยในคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานเทียบเท่าเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชุมชนนำร่องจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ระยะ 3 ปี ระหว่าง ปี 2561-2563 และเพื่อขับเคลื่อนแผนการพัฒนาฯ อย่างเป็นรูปธรรม อพท. และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้บูรณาการความร่วมมือกับอีก 4 หน่วยงานและ 3 จังหวัด
โดยลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนหนุนเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
เพื่อเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวใน 6 ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนดังกล่าว มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว จึงได้เชิญคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการนำเที่ยวกลุ่มตลาดเฉพาะทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย ร่วมเดินทางเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบดังกล่าว ระหว่างวันที่ 10 – 14 ตุลาคม 2561
เพื่อให้คณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการนำเที่ยวได้สัมผัสเสน่ห์ของชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วิถีชีวิตวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่าง และการต้อนรับที่อบอุ่นและมิตรไมตรีของชุมชน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวให้กับชุมชนท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้รับทราบและเชิญชวนให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวที่สำคัญของทั้ง 6 ชุมชนดังกล่าว ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ชุมชนบางปู อำเภอยะหริ่ง นักท่องเที่ยวจะได้ล่องเรือชมอุโมงค์โกงกาง และชมวิถีชีวิตชาวประมงในอ่าว และวิถีชีวิตชุมชนมุสลิม และชุมชนทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ บริการกิจกรรมนั่งรถจิ๊บสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เที่ยวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เรียนรู้การแปรรูปกล้วยตาก ส้มแขก การทอผ้าลายจวนตานี และเรียนรู้ความสัมพันธ์ของผู้คน 2 ศาสนา ไทยพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ จังหวัดยะลา ได้แก่ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 อำเภอธารโต
นักท่องเที่ยวจะได้สนุกสนานกับการเล่นน้ำตก สัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์ เพลิดเพลินกับพรรณไม้นานาชนิด และนกเงือกสายพันธุ์ต่างๆ ในป่าบาลา ฮาลา ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดในช่องแคบมะละกา เชื่อมโยง 2 ประเทศไทยและมาเลเซีย
และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 อำเภอเบตง จะได้ชมต้นไม้ใหญ่ขนาด 38 คนโอบ เรียนรู้ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา พร้อมด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ของสมาชิกพรรค และเพลิดเพลินกับอาหารรสเด็ด
และจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 อำเภอสุคิริน นักท่องเที่ยวจะได้เดินป่าศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนกว่า 4,700 ไร่ ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว 2 สมัย
สนุกสนานกับการล่องแก่งด้วยเรือคะยักในลำคลองป่าต้นน้ำสายบุรี และเรียนรู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์กรม 10 ของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา
และชุมชนวัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยยุคล่าอาณานิคม พร้อมกับสถาปัตยกรรมที่งดงามภายในวัดชลธาราสิงเห และภาษาเจ๊ะเห ซึ่งเป็นภาษาที่ยังใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเที่ยวชมสะพานคอย 100 ปี พร้อมวิถีผู้คนภายในชุมชน
กิจกรรท่องเที่ยวทั้งหมดพร้อมให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาท่องเที่ยวและสัมผัสอย่างใกล้ชิดในชุมชนต้นแบบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวได้กับเมืองท่องเที่ยวหลักกับเมืองหาดหาดใหญ่ เบตง สุไหงโกลก และประเทศมาเลเซีย
ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงชุมชนดังกล่าวจากตัวเมืองทั้ง 3 จังหวัดได้อย่างสะดวก รวมถึงจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และสนามบินนราธิวาสได้อีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชุมต้นแบบ ดังนี้ ชุมชนบางปู โทรศัพท์ 064 2691815 ชุมชนทรายขาว โทรศัพท์ 089 7379553 หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 โทรศัพท์ 086-2841889 หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 โทรศัพท์ 084 7185392 หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 โทรศัพท์ 087 9673076 และชุมชนวัดชลธาราสิงเห โทร. 085 0569963