Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

อิหร่านในวันเผชิญ #โคโรน่า

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, เขียนเมื่อ : 13 มีนาคม 2563 14:07:22 จำนวนผู้ชม : 1031
อิหร่านในวันเผชิญ #โคโรน่า

เมื่อวานเขียนถึงประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 นั่นคืออิตาลี

 วันนี้ขอเขียนถึงอีกประเทศคืออิหร่าน ...ที่มีโอกาสไปเยือนเมื่อปี 2559

 น่าเห็นใจมากสำหรับประเทศนี้ เพราะมีคดีกับอเมริกามาหยกๆ ก็ต้องมาเจอไวรัสอีก ขอให้ชาวอิหร่านหายโควิดกันไวๆค่ะ

ครั้งนั้นได้รับเชิญจากการบินไทยไปร่วมทริป First Flight to Tehran เที่ยวบินแรกจากกรุงเทพฯไปเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ประเทศนี้อยากไปมานานแล้ว มีมนต์เสน่ห์สุดๆ

อิหร่านในวันเผชิญ #โคโรน่า

 ไม่เคยเจอว่าไปประเทศใดในโลก คนที่นั่นจะวิ่งมาขอถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวในทุกๆที่ที่ไปเยือน แต่ทุกคนที่ไปอิหร่านต้องเจอ ประมาณว่าเราเป็นดารา 555 เรียกว่าคนของเขาน่ารักและดีกับนักท่องเที่ยวมากๆ (วันแรกตกใจนึกว่ามิจฉาชีพวิ่งมา อยู่ไปเรื่อยๆก็ชิน)

ประทับใจอีกอย่างคือกฎหมายอิสลามเขากำหนดให้สตรีทุกคนรวมถึงนักท่องเที่ยวต้องโพกผ้าคลุมหัว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวก็โพกปิดๆพอเป็นพิธี ผมโผล่บ้างไม่เป็นไร ก็สวยเก๋ไปอีกแบบ

อิหร่านเป็นเมืองแห่งอารยะธรรมโบราณที่มีเรื่องราวเล่าขานกันกว่า 2,500 ปี รู้จักกันในชื่อ "อาณาจักรเปอร์เซีย" มีกษัตริย์ปกครองมายาวนานติดต่อกันหลายราชวงศ์ ไปถึงเตหะราน สามารถไปขอ Visa On Arrival ที่นั่นได้

อิหร่านในวันเผชิญ #โคโรน่า

เราไปเที่ยวอีกเมืองก่อนนั่นคือ อิสฟาฮาน ถือว่าเป็นเพชรเลอค่าของศิลปะอิสลาม สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมหลากหลายของเปอร์เซีย ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก้ให้เป็นมรดกโลก ชมมัสยิดที่นับว่ายิ่งใหญ่อลังการที่สุดในแผ่นดินเปอร์เซีย มัสยิดอิหม่าม (Imam Mosque) หนึ่งในศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของโลก และมัสยิด ชีค ล๊อฟฟลูเลาะห์ (Sheikh Lotfallah) ซึ่งเป็นมัสยิดที่มีการออกแบบทั้งภายในและภายนอกอย่างสวยงามวิจิตรตระการตา

จากนั้นเรากลับมายังเมืองเตหะราน เพื่อท่องเที่ยวต่อในหลายที่ เช่น อาซาดี ทาวเวอร์ หอคอยสูงตระหง่านใจกลางเมือง , Sa’ad Abad Palace เป็นพระราชวังฤดูร้อนเก่าแก่ของพระราชวงศ์กาจาร์ (Qajar Dynasty) ,พระราชวังโกเลสตาน

แต่ที่ตื่นตาตื่นใจมากค่ะ เพชร ทอง เครื่องประดับมากมายมหาศาล ตั้งแต่ได้เคยชมพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งในโลก คือที่พิพิธภัณฑ์อัญมณี(Jewelry Museum) ซึ่งตั้งอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคารกลางแห่งชาติของอิหร่าน กลางกรุงเตหะราน ที่นี้ได้เก็บรวบรวมอัญมณีจากทุกยุคทุกสมัยของกษัตริย์ทุกราชวงศ์ ที่เคยปกครองอาณาจักรเปอร์เชีย (ยกเว้นราชวงศ์แรก) จนกระทั่งกลายมาเป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบัน มีจำนวนมากมายสุดอลังการที่สุดในโลก

มีเพชรสีชมพูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักถึง 182 กะรัต และบัลลังก์นกยูงอันลือชื่อในพิพิธภัณฑ์อัญมณีแห่งนี้ยังมีสมบัติมีค่าอีกมากมายที่ได้จัดแสดงไว้ให้ผู้มาเยือนได้ชม และนี่คือทรัพย์สินที่ใช้ค้ำประกันประเทศอิหร่านได้เลยทีเดียว

มีอีกหลายสิ่งในความทรงจำ คือเป็นประเทศที่แบนเฟสบุ๊ก อันเนื่องมาจากรัฐบาลของเขาเกรงว่าจะกระทบวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่มีมาอยู่แต่เดิม และที่สำคัญอเมริกาก็ไม่ถูกกับอิหร่าน

อิหร่านในวันเผชิญ #โคโรน่า

(ประเทศที่เฟสบุ๊กไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงประชากรในประเทศคือ เกาหลีเหนือ,อิหร่าน,จีน,คิวบา,บังกลาเทศ,อียิปต์,ซีเรีย,มอริเชียส,ปากีสถาน,เวียดนาม )

การแก้ปัญหาไปล่วงหน้า นั่นคือการต้องโหลด VPN ไปจากประเทศไทยเลย จะไปโหลดที่ปลายทางอาจจะทำไม่ได้นะคะ วิธีการเข้าคือเข้าไปที่กูเกิล แล้วเขียนคำว่า โหลด VPN โดยจะต้องพยายามโหลด VPN เอาไว้เยอะๆให้ได้มากที่สุด หลายๆแบบค่ะ เพราะบางแบบใช้ได้ดีในแต่ละประเทศ ซึ่งที่อิหร่านแบบที่ใช้ดีที่สุดคือรูปกระเป๋าสีฟ้านี่ละค่ะ ใช้ได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา แต่ควรไปใช้ซิมในประเทศของเขา แล้วก็จะสะดวกมากๆเลย

และพอกลับมาจากอิหร่านได้ประมาณ 6 เดือนต้องไปอเมริกา ทีนี้วีซ่าเก่าหมดอายุ พอไปขอวีซ่าใหม่เท่านั้นแหละเห็นมีวีซ่าอิหร่านในเล่ม สถานทูตอเมริกาถึงกับต้องขอให้ตอบคำถามทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษและบันทึกเทปเพื่อส่งไปยังประเทศแม่ที่อเมริกาถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องไปอิหร่าน เขาเป็นศัตรูกันมานานแล้ว อิหร่านเคยจับนักการทูตสหรัฐกักตัวในสถานทูตยาวนานจนอเมริกาต้องปฎิบัติการระดับโลกเข้าไปช่วยเลยทีเดียว

และพอมีวีซ่าอิหร่านในเล่ม ไปประเทศไหนต้องโดนถามว่าไปทำไมที่อิหร่าน เช่น อังกฤษ และจีนจะถามมาก (เราต้องไปอังกฤษบ่อยเพื่อไปหาที่เรียนให้ลูกและไปเยี่ยมลูกทุกปี)

ทั้งที่พลเมืองของเขาน่ะน่ารักมากๆๆนะ ประทับใจอิหร่านไม่รู้ลืม

ตลาดของเขาน่ะถั่วประเภทต่างๆมากมายที่สุดในโลกและอร่อยมาก

คิดถึงนะอิหร่าน

บล็อกเกอร์ Travelista รายงาน

 

 

 

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, จำนวนผู้ชม : 1031

© www.bloggertravelista.com 2018