เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งในวงการท่องเที่ยวไทยและโรงแรมไทยกับการจากไปของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้บุกเบิกโรงแรม "ดุสิตธานี" เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ยังเป็นหญิงเหล็กผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย
ท่านเสียชีวิตเมื่อเย็นวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ด้วยวัย 99 ปี โดยมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม ณ ศาลา100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
“ท่านผู้หญิงชนัตถ์” เป็นผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี ที่ถือเป็นโรงแรมห้าดาวแห่งแรกของไทย สัญลักษณ์แลนด์มาร์ก หัวมุมถนนสีลม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรื้อถอนเพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสที่ทันสมัย มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดบริการอีกครั้งใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้คุ้มค่ากับราคาที่ดินใจกลางเมืองและรับการลงทุนที่เปลี่ยนไป
เป็นผู้ก่อตั้งดุสิตธานี ที่มาของชื่อ “ดุสิต” เป็นชื่อของสวรรค์ชั้น 4 ซึ่งช่วงที่จดทะเบียนตั้งบริษัท มีการแนะนำให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ก็ไม่ยอม เพราะคิดว่าเป็นโรงแรมของคนไทย และตั้งอยู่ในประเทศไทย ควรใช้ชื่อไทย การออกเสียงไพเราะ มีความหมาย และชื่อเป็นมงคล
ระหว่างสักการะพระบรมรูปล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ที่ลานหน้าสวนลุมพินี เพื่อขอพระราชทานอภัยที่ต้องรื้ออาคารเก่าบ้านศาลาแดง ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ราชเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6
ท่านผู้หญิงได้ นึกถึงคำว่า “ดุสิตธานี” จึงอธิษฐานขอพระบรมราชานุญาตนำมาตั้งเป็นชื่อโรงแรม โดยดุสิตธานีเป็นเมืองประชาธิปไตย ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้จำลองขึ้น เมื่อปี 2461 ตั้งอยู่ในพระราชวังพญาไท และ “ดุสิต” ยังเป็นชื่อสวรรค์ชั้น 4 ตามคติความเชื่อทางศาสนาของคนไทย เมื่อครั้งสร้างเสร็จยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จฯมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด
โรงแรมดุสิตธานีเปิดบริการเมื่อปี 2513 ช่วง 2 ปีแรก ได้เชนโรงแรม WIH (Western International Hotels) เข้ามาบริหาร หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือฟอร์จูนได้ลงว่า โรงแรมดุสิตธานีเป็นโรงแรม 1 ใน 10 ของโลก ที่มีที่ตั้งและสิ่งแวดล้อมที่ดี การออกแบบตกแต่งและมีการบริการที่ดี
ท่านผู้หญิงมักพูดเสมอว่า "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นเรื่องที่อ่อนไหวง่าย" เมื่อมีเหตุการณ์มากระทบ ที่ผ่านมา “ท่านผู้หญิงชนัตถ์” จึงเป็นเสมือนหญิงเหล็กของวงการโรงแรมไทย ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย และยังเป็นทั้งอดีตสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่คอยเป็นปากเป็นเสียงต่อภาครัฐในฐานะคนโรงแรม การบุกเบิกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปทั่วโลก และดุสิตธานีก็เป็นเสมือนสถาบันชั้นดี ที่สร้างบุคลากรมากมายในวงการท่องเที่ยวและโรงแรมไทย ปัจจุบันดุสิตธานีมีเครือข่ายโรงแรม 34 แห่งใน 13 ประเทศ ทั้งที่เป็นเจ้าของและรับจ้างบริหาร ถึงการการแตกไลน์ธุรกิจที่ต่อเนื่อง และอสังหาริมทรัพย์
แม้จะส่งไม้ต่อให้ทายาทคนโต “ชนินทธ์ โทณวณิก” เข้ามาสานงานต่อ เมื่อปี 2525 แล้วก็ตาม แต่ท่านผู้หญิงก็ยังทำงานมาตลอดกระทั่งวัย 84 ปี ถึงได้วางมือ จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โรงแรมดุสิตธานีได้ปิดฉากหลังจากให้บริการมาครึ่งศตวรรษ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 ลงเพื่อสร้างโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ และวันนี้ตำนานผู้ก่อตั้งก็ได้ปิดฉากลงเช่นกัน