Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

‘อุตสาหกรรมการบินโลก’ ล่มสลาย อาจใช้เวลาถึง 5 ปี ฟื้นตัว

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, เขียนเมื่อ : 15 พฤษภาคม 2563 12:51:18 จำนวนผู้ชม : 1007
‘อุตสาหกรรมการบินโลก’ ล่มสลาย อาจใช้เวลาถึง 5 ปี ฟื้นตัว

Credit ประชาชาติธุรกิจ

อุตสาหกรรมการบินถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงและชัดเจนที่สุด เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่รัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้ ทั้งการล็อกดาวน์และการจำกัดการคมนาคม ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ตามปกติ

บลูมเบิร์กรายงานข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ระบุว่า ปัจจุบันมีเครื่องบินโดยสารเกือบ 2 ใน 3 ของเครื่องบินราว 26,000 ลำทั่วโลกที่ยุติการขึ้นบิน ส่งผลให้พนักงานสายการบินทั่วโลกประมาณ 25 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ไออาตายังเตือนว่า สายการบินทั่วโลกจะมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วลดลงรวมประมาณ 314,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินทั่วโลกกว่าครึ่ง เสี่ยงที่จะล้มละลายภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐโดยด่วน

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบินจำนวนมากก็พยายามดิ้นรน ทั้งการให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเข้าอุ้มพร้อม ๆ กับแผนการปรับโครงสร้างลดค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากระแสเงินสดสำหรับพยุงภาคธุรกิจต่อไป

เช่น ที่ผ่านมา “เวอร์จิน ออสเตรเลีย” สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย ได้ยื่นขอล้มละลายหลังจากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเงินกู้ ขณะที่สายการบินแห่งชาติของหลายประเทศก็ตกที่นั่งลำบากเหมือน ๆ กัน เมื่อคนทั้งโลกหยุดการเดินทาง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “บริติชแอร์เวย์” สายการบินรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ประสบภาวะขาดทุนสูงถึง 535 ล้านยูโร ในไตรมาสแรกปีนี้ ส่งผลให้บริษัทเตรียมปรับลดพนักงานถึง 12,000 คน และพักงานโดยรับเงินเดือน 80% อีกกว่า 30,000 คน แม้ว่าสายการบินจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ด้วยการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานรายละไม่เกิน 2,500 ปอนด์/เดือน เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง แต่ผู้บริหารบริติชแอร์เวย์ระบุว่า การช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่เพียงพอให้บริษัทสามารถรักษางานทั้งหมดเอาไว้ได้

“อเล็กซ์ ครูซ” ซีอีโอของบริติชแอร์เวย์ ระบุในจดหมายถึงพนักงานว่า “เราไม่สามารถคาดหวังให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องมาอุดหนุนเงินเดือนให้เราอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่เงินกู้ยืมในขณะนี้ก็ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเผชิญได้ ความท้าทายครั้งนี้ต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับฐานราก เพื่อให้เราอยู่จุดที่มีความยืดหยุ่นและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถรับมือโควิด-19 ได้เท่านั้น แต่ต้องสามารถรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วย”

นอกจากนี้ สายการบินอีกจำนวนมากก็อยู่ในสภาพไม่แตกต่าง รอยเตอร์สรายงานว่า “สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็ม” สายการบินสัญชาติสวิส ก็ปรับลดพนักงาน 5,000 คน ส่วน “ไรอันแอร์” ของไอร์แลนด์ ปรับลดพนักงาน 3,000 คน และ “นอร์วีเจียน แอร์ ชัตเทิล” ของนอร์เวย์ ก็เตรียมเลิกจ้าง 4,700 คน ขณะที่ “ลุฟท์ฮันซ่า” สายการบินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เตรียมใช้มาตรการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงาน 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด

แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะเทือนถึงผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ เนื่องจากความต้องการเครื่องบินที่ลดฮวบ เอเอฟพีรายงานว่า “โบอิ้ง” ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ ประกาศเตรียมปรับลดพนักงานลงราว 10% หรือประมาณ 16,000 คน พร้อมลดกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่นหลักอย่างโบอิ้ง 787 และ 777 ด้วย เนื่องจากการสั่งซื้อที่หดหาย ขณะที่ในไตรมาส 1/2020 บริษัทขาดทุนถึง 641 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เดวิด คาลฮูน” ซีอีโอของโบอิ้งระบุว่า “อุตสาหกรรมการบินจะใช้เวลาอีกหลายปีในการกลับสู่ระดับการบินในช่วงก่อนหน้านี้ เราต้องเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ดังกล่าว มาตรการรัดเข็มขัดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอในช่วงเวลาที่รายได้ตกต่ำ”

ขณะที่เดอะการ์เดียนรายงานว่า “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรปก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการเครื่องบินที่ลดลง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของบริติชแอร์เวย์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยไตรมาสแรก ผลกำไรของแอร์บัสลดลงถึง 49% เหลืออยู่ที่ 281 ล้านยูโร สาเหตุจากที่ไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินกว่า 60 ลำ ให้ลูกค้าได้ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสายการบินต่างเจรจาขอขยายเวลาการสั่งซื้อ

“กีโยม โฟรี” ซีอีโอแอร์บัสระบุว่า อาจต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี ในการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้โดยสารให้กลับมาเดินทางโดยเครื่องบินในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แม้ว่าแอร์บัสยังไม่มีแผนปรับลดพนักงานจากทั้งหมดราว 135,000 คนทั่วโลก แต่ก็ยอมรับว่าเตรียมพิจารณาเรื่อง
ดังกล่าวในกลางเดือน มิ.ย.นี้

ผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมการบินยังกระทบไปถึงนักทุน ซึ่งล่าสุด “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีและในฐานะนักลงทุนชื่อดัง ประธานบริษัท “เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์” ประกาศว่า บริษัทได้เทขายหุ้นสายการบินทั้งหมด เนื่องจากความไม่แน่นอนของธุรกิจการบิน

โดยเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ถือหุ้นใน 4 สายการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ได้แก่ เดลตาแอร์ไลน์, เซาท์เวสต์แอร์ไลน์, ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ และอเมริกันแอร์ไลน์ ในสัดส่วนประมาณ 10% ของแต่ละสายการบิน ซึ่งเบิร์กเชียร์ฯได้ทยอยขายหุ้นสายการบินมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะประกาศเทขายหุ้นทั้งหมดเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่โควิด-19 จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ยังจะพลิกโฉมธุรกิจการบินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ การเว้นที่นั่งแถวกลาง และการให้บริการโดยเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด

ขณะที่ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าผู้โดยสารจะฟื้นความเชื่อมั่นในการเดินทาง โดยผลการสำรวจของไออาตาพบว่า ผู้คนในปัจจุบันราว 40% ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะสามารถควบคุมได้ก็ยังคงจะรอเวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะมั่นใจและกลับไปใช้บริการสายการบินอีกครั้ง

 

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, จำนวนผู้ชม : 1007

© www.bloggertravelista.com 2018