บทความ โดย สาธิตา โสรัสสะ อดีตหัวหน้าข่าวเนชั่น ปัจจุบันเป็นประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ และTravelista นักเดินทาง
สาธิตา โสรัสสะเคยมีโอกาสร่วมงานกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในหลายโครงการ และได้รู้จักกับคุณสุริยา แสงพงค์ในหลายมุมมอง เลยขอนำเสนอเรื่องราวของท่านพอสังเขป และขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของท่าน
คุณสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 เรียกว่าเพิ่งได้รับการแต่งตั้งมารับตำแหน่งยังไม่ถึง 2 เดือน
บุคลิกท่านเป็นคนนุ่มนวล ใจเย็น รอบคอบ และมีเมตตา ทำงานตรงไปตรงมา คนในองค์การสวนสัตว์รักท่านมาก เรียกว่าเป็นลูกหม้อที่พนักงานสนับสนุนอยากให้รับตำแหน่งนี้มาโดยตลอด
คุณสุริยาเป็นชาวสงขลา และสําเร็จการศึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาพืชศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นนักบริหารคนหนึ่งที่ทำงานอย่างทุ่มเทมาก ในอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว บริหารสวนสัตว์เปิดเขาเขียวจนประสบความสำเร็จ
ความทุ่มเทของท่านทำให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดชลบุรี แหล่งเรียนรู้สัตว์ป่าบนเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ อาณาจักรสัตว์ป่าที่มีมากถึง 3,000 ตัว กว่า 200 ชนิดพันธุ์ จากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก
เท่าที่จำได้ท่านคิดแม่เหล็กใหม่ๆเพื่อดึงนักท่องเที่ยว เช่น การสัมผัสความน่ารักของช้างดำน้ำผ่านกระจกใส ส่วนแสดงช้าง Elephant Learning Station ผู้ชมสามารถเข้าชมอิริยาบถของช้างขณะที่ว่ายอยู่ใต้น้ำได้อย่างน่าแปลกตาและน่าสนใจ การแสดงที่สามารถเห็นอิริยาบถของช้างในมุมมองใต้น้ำแบบนี้ มีไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้น เช่น ที่ สวนสัตว์ซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สวนสัตว์ในประเทศญี่ปุ่น และสวนสัตว์ไลป์ซิค ประเทศเยอรมัน
อีก 2 แม่เหล็กที่คุณสุริยาได้มีไอเดียจัดทำคือ Flying Parade พาเหรดนกกาบบัว กิจกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำสวนพฤกษศาสตร์ เมื่อสัญญาณนกหวีดดังขึ้น ฝูงนกนับร้อยๆ โผบินทะยานข้ามน้ำไปยังลานกว้างอย่างพร้อมเพรียง ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อสัญญาณดังขึ้นอีกจุดหนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้ ก็จะโผบินไปตามสัญญาณเสียงนั้นทันที ภาพฝูงนกนับร้อยบินเหนือผืนน้ำ ท่ามกลางหุบเขา ที่สวยงามแบบนี้ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย และอีกกิจกรรมคือ Penguin Parade เพนกวินสายพันธุ์ฮัมโบล์ด เดินพาเหรดให้นักท่องเที่ยวเห็นความน่ารักของเพนกวิน ที่เดินขบวนมาจากส่วนพักมายังสระน้ำ
อีก 2 แม่เหล็กที่คุณสุริยาได้มีไอเดียจัดทำคือ Flying Parade พาเหรดนกกาบบัว กิจกรรมบริเวณอ่างเก็บน้ำสวนพฤกษศาสตร์ เมื่อสัญญาณนกหวีดดังขึ้น ฝูงนกนับร้อยๆ โผบินทะยานข้ามน้ำไปยังลานกว้างอย่างพร้อมเพรียง ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อสัญญาณดังขึ้นอีกจุดหนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้ ก็จะโผบินไปตามสัญญาณเสียงนั้นทันที ภาพฝูงนกนับร้อยบินเหนือผืนน้ำ ท่ามกลางหุบเขา ที่สวยงามแบบนี้ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย และอีกกิจกรรมคือ Penguin Parade เพนกวินสายพันธุ์ฮัมโบล์ด เดินพาเหรดให้นักท่องเที่ยวเห็นความน่ารักของเพนกวิน ที่เดินขบวนมาจากส่วนพักมายังสระน้ำ
ที่จริงน่ามีอีกหลายโครงการเลยที่คุณสุริยาทำให้กับองค์การสวนสัตว์ แต่ขอเล่าพอสังเขป
คุณสุริยาสามารถเข้าใกล้สัตว์ป่าหลายๆ ตัว ลูบหัวเจ้าตัวเหล่านั้นด้วยความรัก บางทีเรียกต่อเองเป็นพ่อของสัตว์เหล่านั้น
ระดับบริหารหลายๆคนขององค์การสวนสัตว์ ไม่ได้ทำงานเป็น Zookeeper หรือ พนักงานดูแลสัตว์ เพราะก้าวเป็นระดับบริหาร
แต่คุณสุริยานี่แหละคือ Zookeeper ตัวจริง ท่านรักและดูแลสัตว์ประดุจลูกหลานเลยทีเดียว ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เหล่านี้มากกว่าอยู่บ้านเสียอีก ท่านไม่ใช่แค่ป้อนอาหาร แต่ยังจดจำชื่อและอุปนิสัยของสัตว์ได้หลายๆตัว สามารถสังเกตสุขภาพเบื้องต้นสัตว์ได้ รู้ว่าสัตว์แต่ละตัวชอบกินอะไร ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน
คุณสุริยาเกิดมาพร้อมนิสัยรักสัตว์ เรียกว่ารักเหมือนลูกเหมือนหลาน ผูกพันกันมาก ทั้งชอบอยู่กับธรรมชาติ มีความละเอียด ใจเย็น เป็นบุคลิกของท่านมานานแล้ว และยังมีทักษะในการทำงานกับสัตว์ป่าให้ปลอดภัย
ภายหลังท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ทุกคนต่างก็ลุ้นให้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ ด้วยความเหมาะสมจากประการทั้งปวง
งานสำคัญที่กำลังท้าทายท่านในช่วงนี้ คือการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ที่ปทุมธานี หรือสวนสัตว์แห่งที่ 8 เพิ่มเติมจากตอนนี้ที่ดูแลคือ 1 สวนสัตว์เปิดเขาเขียว 2 สวนสัตว์ขอนแก่น 3 สวนสัตว์เชียงใหม่ 4 สวนสัตว์นครราชสีมา 5 สวนสัตว์สงขลา 6 สวนสัตว์อุบลราชธานี 7 โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์
งานของท่านมีมากมาย นับแต่การอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อการศึกษา วิจัยและส่งคืนสู่ธรรมชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสัตว์ป่า จัดการเรียนรู้ด้านสัตว์ป่าเชิงบูรณาการ พัฒนามาตรฐานการจัดการ การบริหารและนันทนาการ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างแท้จริง
คนทำงานร่วมกับสัตว์ป่านั้นนับว่า เหนื่อยแถมยังเสี่ยงอันตราย แต่คุณสุริยา นอกจากเป็นผู้อำนวยการแล้ว ยังเป็น Zookeeper ที่รักสัตว์มากๆ มีทักษะเฉพาะตัว และขยันทำงาน ซึ่งงานของท่านนับว่าทั้งเสี่ยงกับสัตว์ป่า เหนื่อยกับคน และต้องทำงานแบบประสานสิบทิศให้งานราบรื่น
บัดนี้ไม่มีแล้ว “สุริยา แสงพงค์” ขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งอีกครั้ง