Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

การบินไทยปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ลดผู้บริหารลง 240 คน

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 19 กุมภาพันธ์ 2564 15:33:31 จำนวนผู้ชม : 691
การบินไทยปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ลดผู้บริหารลง 240 คน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประชาคมคน TG ซึ่งมีผู้ร่วมประชุม อาทิ ผู้แทนฝ่ายต่างๆ ของบริษัทฯ ผู้แทนกองทุน ผู้แทนสมาคมสโมสรพนักงานการบินไทย ผู้แทนสหภาพฯ ต่างๆ และผู้แทนสหกรณ์ฯ ว่า ตามที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อให้การฟื้นฟูสำเร็จลุล่วงจนบริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยบริษัทฯ มีแนวคิดในการปรับโครงสร้างองค์กรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการเติบโตด้านต่างๆ การเพิ่มขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ การมีขอบเขตการบังคับบัญชาที่เหมาะสม (Scope of work and responsibility expansion) และมีโครงสร้างองค์กรราบและกระชับขึ้น (Flatter structure with best-in-class span of control)

ในการนี้ บริษัทฯ ได้จัดโครงสร้างองค์กรที่เป็นแบบรวมศูนย์สำหรับงานเกี่ยวกับการเงินบัญชี การบริหารงานบุคคล การจัดซื้อ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงานและเป็นการใช้ข้อมูลร่วมกัน ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรมีความกระชับและมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา อีกทั้งลดขั้นตอนการบังคับบัญชา จากเดิม 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับ ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ระดับ 14 ประธานเจ้าหน้าที่ (Chief of) ระดับ 12-13 ผู้อำนวยการ (Director) และกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ระดับ 11-12 หัวหน้าฝ่าย (Head of) ระดับ 10 และหัวหน้ากลุ่มงาน (Team Lead) ระดับ 8-9 และแบ่งออกเป็น 8 สายงาน ได้แก่ 1.สายการพาณิชย์  2.สายปฏิบัติการ 3.สายช่าง 4.สายการเงินและการบัญชี 5.สายทรัพยากรบุคคล 6.ฝ่ายดิจิทัล 7.ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร 8.หน่วยธุรกิจการบิน

ทั้งนี้ ภายในหน่วยงานดังกล่าว บริษัทฯ ได้เพิ่มหน่วยงานใหม่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Transformation) โดยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อน ประสานเชื่อมโยง และรวบรวมความคิดริเริ่มที่มาจากพนักงาน (Bottom Up) เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งขณะนี้มีโครงการริเริ่มแล้วกว่า 600 โครงการ หากดำเนินการตามแผนคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ และฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร (Corporate Strategy & Development) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน กำหนดทิศทางกลยุทธ์ในภาพรวม การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ของบริษัทฯ และการบริหารจัดการบริษัทในเครือ

การบินไทยปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ลดผู้บริหารลง 240 คน

บริษัทฯ ได้เปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan) ให้พนักงานสมัครใจเสียสละเข้าร่วมโครงการและลาออกจากบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กรแผน B (MSP B) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการลาระยะยาว Leave With 20% Pay (LW 20) ที่พนักงานได้รับเงินเดือนร้อยละ 20 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2564 และโครงการร่วมใจจากองค์กรแผน C (MSP C) โดยทั้งสองโครงการจะเปิดรับสมัคร แบ่งเป็น 4 Block ได้แก่ Block ที่ 1 รับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2564 Block ที่ 2 รับสมัครตั้งแต่ 2 – 16 มีนาคม 2564 Block ที่ 3 รับสมัครตั้งแต่ 16 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 Block ที่ 4 รับสมัครตั้งแต่ 1 – 19 เมษายน 2564 ซึ่งพนักงานที่เข้าโครงการฯ จะได้รับเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน คำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายของพนักงานตามกฎหมาย และยังมีเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติม โดยพนักงานที่เข้า MSP B จะได้เงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมเท่ากับเงินเดือน 4 เดือน ส่วนพนักงานที่สมัครใจเข้าโครงการ MSP C จะได้เงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติม เท่ากับเงินเดือน 0.5 – 1 เดือน ตามอายุของพนักงาน

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแบ่งจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นระยะเวลา 12 งวด โดย MSP B Block ที่ 1 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนมิถุนายน 2564 และ Block ที่ 2 - 4 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนถัดไปตามลำดับ ส่วน MSP C Block ที่ 1 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนกันยายน 2564 และ Block ที่ 2 - 4 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนถัดไปตามลำดับ

การทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่นั้น บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (Customer Centric) โดยนำระบบดิจิทัลมาขับเคลื่อนองค์กร (Digital Driven) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบประกอบการตัดสินใจในทางธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการทำงานข้ามสายงาน โดยพนักงานทุกคนมีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน (Cross-functional teams) ภายใต้วิสัยทัศน์ขององค์กรที่กระตุ้นให้พนักงานแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Accelerate Productivity and Innovation) เพื่อให้บริษัทฯ สามารถสร้างกำไร ควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ทั้งในธุรกิจการบินและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน

บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจนสามารถกลับมาเป็นผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมการบินได้ ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการจะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหนี้และพนักงานทุกคน

 

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 691

© www.bloggertravelista.com 2018