มีโอกาสดีมากได้ร่วมทริปกับฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปชมที่เที่ยวสวยๆ ในโครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์และวิถีของท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบ:นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาน่าเที่ยวมาก ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขาบรรทัดเป็นสันปันน้ำ ทอดตัวยาวในแนวเหนือ-ใต้ ทางทิศใต้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี เทือกเขาทั้งสองปกคลุมด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำ ถัดจากพื้นที่ภูเขาลงมาจะเป็นที่ราบสลับเนินเขาเตี้ย ๆ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกยางพารา สวนผลไม้ ถัดลงมาเป็นที่ราบขนาดใหญ่ล้อมรอบตัวทะเลสาบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว ทางตอนเหนือของทะเลสาบเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า "พรุควนเคร็ง" ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 137 ตารางกิโลเมตร (รวมทะเลน้อย) ด้านตะวันออกเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลติดต่อกับอ่าวไทย
ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและระบายน้ำตามธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ มีระบบนิเวศ 3 น้ำ ที่มีการผสมผสานทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทะเลน้อยซึ่งอยู่ทางเหนือสุดเป็นน้ำจืด ถัดลงมาคือ ทะเลสาบตอนบน ส่วนใหญ่ของรอบปีจะเป็นน้ำจืด ทะเลสาบตอนกลางมีความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลงระหว่างน้ำจืดและน้ำกร่อยขึ้นกับฤดูกาล ทางใต้สุดคือ ทะเลสาบตอนล่าง ซึ่งเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม โดยทะเลสาบตอนล่างเชื่อมกับอ่าวไทย ทำให้ความเค็มของน้ำในทะเลสาบเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
พื้นที่รอบน้ำทะเลสาบ เป็นดินแดนที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มายาวนานไม่น้อย 6,000 ปี มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วิถีชีวิตของผู้คน และงานกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุงทั้งจังหวัด ประกอบด้วย อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน ป่าบอน บางแก้ว เขาชัยสน ตะโหมด กงหรา ควนขนุน ศรีบรรพต ป่าพะยอม และศรีนครินทร์ จังหวัดสงขลา 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา หาดใหญ่ สะเดา นาหม่อม คลองหอยโข่ง รัตภูมิ บางกล่ำ ควนเนียง สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และระโนด และจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด และหัวไทร
เราจะไปชม 7 สถานที่เที่ยวที่น่าสนใจในทริปนี้กัน ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของการท่องเที่ยวรอบทะเลสาบ
1 น่าจะเป็นดินแดนที่มีต้นตาลมากที่สุดในไทย มีหลายแสนต้น “โหนด นา เล” วิถีชีวิตดั้งเดิมในการดำรงชีพของคนสทิงพระ จ.สงขลา ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับตาลโตนด ชมการขึ้นตาลโตนด และการเพาะลูกโหนด เฉาะลูกตาล ลูกตาลเชื่อม ซึ่งนอกจากการทำขนมแล้ว ยังทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างเช่นสบู่ตาลโตนด สลับกับการทำนาและวิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิม อาทิ การทำไซ-สุ่มดักปลาในทะเลสาบ การทำกุ้งส้ม ปลาแห้ง ปลาต้มน้ำผึ้งจากตาลโตนด
2 บ้านปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตโพนและเป็นศูนย์กลางจำหน่ายโพนที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ รวมทั้งยังกระจายสินค้าไปแทบทุกที่ใน 14 จังหวัดของภูมิภาคนี้ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา ทุกวัด ทุกหมู่บ้าน ต่างต้องการโพนไปใช้ใน "งานลากพระ" ประเพณีสำคัญของคนปักษ์ใต้ "โพน" คือเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายกลองทัดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียวไม่แตกง่าย มีเสียงดังดีมากเมื่อใช้ไม้ตะเคียนทองตี
3 บ้านปากประ พัทลุง เป็นแหล่งชุมนุมของปลาและเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญ ชาวบ้านจะตั้งยอดักจับปลาเป็นจำนวนมากจนดูยุ่งเหยิง แต่กลับเป็นทิวทัศน์ที่แปลกตามาก เห็นวิถีชีวิตการยกยอยักษ์และดักจับสัตว์น้ำที่ไม่เหมือนที่ใดในเมืองไทย ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดูทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นกับยอยักษ์ที่บ้านปากประ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักถ่ายภาพเลยทีเดียว แสงอาทิตย์ขึ้นสีทองงดงามมาก
4 พื้นที่ชุ่มน้ำโลก Ramsar Site แห่งแรกของประเทศไทย “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” หรือ “ทะเลน้อย” มีทั้งที่ราบ ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ป่าพรุเสม็ดขาว ทุ่งกระจูด ดงหญ้าชื้นแฉะ ดงแขม ดงกกกลม หาดเลน และยังเป็นพื้นที่อาศัยของนกน้ำที่สำคัญ เช่น นกกาบบัว ซึ่งวางไข่และทำรังที่นี่เพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังมีนกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นนกอ้ายงั่ว นกตะกรุม นกกระสาแดง นกกระสานวล นกกาบบัว นกช้อนหอยดาว เหยี่ยวดำ รวมถึงนกฟินฟุต
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) เป็นลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ฉ่ำน้ำ พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุและพื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ของทะเลในบริเวณซึ่งมีน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร พร้อมกับการชมทัศนียภาพต่างๆ เช่น ชมทะเลบัว, ชมนกน้ำนานาชนิด, ควายน้ำ, สะพานไสกลิ้ง, ชมการยกยอ, ชมพระอาทิตย์ขึ้น ณ คลองปากประ, พระตำหนักฯ นกทะเลน้อย
5 สวนไผ่ขวัญใจ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งสามารถนำมาเป็นพลังงานทดแทน ทั้งเม็ดพลังงานเชื่อเพลิงก๊าซชีวมวล น้ำมันชีวมวลและถ่านไม้ ที่สำคัญไผ่ ที่สำคัญไผ่เป็นเครื่องฟอกอากาศ ดูดซับก๊าซคาร์บอนและลดมลภาวะโลกร้อนไดเป็นอย่างดี และไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ลำไผ่ใช้ในการสร้างบ้าน โรงเรือน เครื่องจักรสานและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ หน่ออ่อนใช้ประกอบอาหาร สวนไผ่ขวัญใจปัจจุบันปลูกไผ่ครบวงจร ทั้งตัดหน่อเพื่อจำหน่าย ตอนกิ่งชำขาย ตลอดถึงลำต้นที่อายุเกิน 3 ปี สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์
6 ตลาดริมน้ำคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อกับนครศรีธรรมราช ภายในตลาดมีห้องแถวเก่าแก่ที่สร้างมายาวนานตั้งเรียงรายเลียบริมแม่น้ำ พร้อมการสร้างสะพานไม้เพื่อใช้เป็นทางเดินในการเยี่ยมชมตลาด เมนูอาหารอร่อยชุมชนคลองแดนก็มีให้เลือกหลากหลายอย่าง เช่น ปลาทอดทรงเครื่อง (สูตรโบราณ), แป้งแดง, ข้าวยำ, ข้าวมันแกงไก่, เต้าคั่ว, ห่อหมกปลาอินทรี, ขนมกอ, ขนมจาก, ขนมลูกโดน, ขนมโค, ขนมพิมพ์, ขนมทราย (ขนมขี้หนู), ขนมปำจี, ข้าวเกรียบปากหม้อ, ขนมค่อม, ขนมเทียน, ขนมดอกลำเจียก, ขนมหน้ามัน, กล้วยทับ, ข้าวเหนียวปิ้ง, กุ้งทอด และอาหารพื้นบ้านอีกมากมาย เปิดขายเฉพาะวันเสาร์
7 เขาชันรีสอร์ท สัมผัสบรรยากาศ ทะเลสาบสงขลา พักรีสอร์ท ใกล้ชิดธรรมชาติ ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในอดีต จนเป็นตำนาน การเสด็จประภาสของ ร.5 รวมทั้ง ชมวิวหมู่เกาะสี่ เกาะห้า ได้ที่นี่ เขาชันรีสอร์ท เกาะหมาก ปากพะยูน มีบริการห้องพัก และรองรับการจัด ประชุมกลุ่ม หรือสัมมนาแนวเอกเขนก แบบเป็นกันเอง อาหารกลางวันอร่อยมากๆ ปู กุ้งนึ่ง แกงส้ม น้ำพริก ผัดสะตอ
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช รองผู้อำนวยการฝ่ายทุนวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์นับพันปีที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม ที่ผลัดเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแต่ยุคสมัย ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นสนใจของผู้คนในหลากหลายเรื่องราว นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพื้นที่รองรับการท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งเที่ยวเชิงเกษตร และรูปแบบอื่น ๆ อีกหลายหลาย แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตไม่มากนัก จึงต้องการให้มีการศึกษาวิจั ยเพื่อใช้ประโยชน์จากืพ้นที่ให้มากขึ้น และบริษัททัวร์เองก็สามารถนำไปเสนอขายได้
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบ โดยจัดประชุมและสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบน้ำประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าแม้ว่าเราจะมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน กลับพบว่าการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นรอบลุ่มน้ำทะเสาบนั้นมีน้อยมาก จึงต้องการขับเคลื่อนงานวิจัย นำเสนอการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์และวิถีของท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบในสามจังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เพื่อให้เห็นศักยภาพของแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งหมดทุกรูปแบบที่จะสามารถรองรับการท่องเที่ยวได้ เช่น รูปแบบการท่องเที่ยวสอดคล้องกับวัฒนธรรมของท้องถิ่น (Local Culture) รูปแบบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (Nature and adventure tourism) เพื่อนำเสนอต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างกัน
วันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การที่สกว.เข้ามาทำการวิจัย จะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพัทลุงนับได้ว่ามีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ ซึ่งจังหวัดก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงรับนโยบายประชารัฐสามัคคีจากรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ชุมชน โอท็อป เกษตรแปรรูป เรามีทะเลน้อยที่มีความหลากหลาย มีแหล่งรังนกนางแอ่นคุณภาพดีที่สุดในประเทศ อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามากัน
นิธิ สืบพงษ์สังข์ กรรมการผู้จัดการ นัทตี้ แอดเวนเจอร์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้เข้ามาดูพื้นที่จากการศึกษาวิจัย พบว่ามีศักยภาพสำหรับนำไปขายในตลาดโลกได้ ซึ่งจะต้องไปออกแบบให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า เช่นอาจเป็นการท่องเที่ยวเชิงแฟมิลี่ แอดเวนเจอร์ กลุ่มรีไทร์ และโฟโต้ทัวร์ ซึ่งเมื่อออกแบบเสร็จพร้อมนำไปขายในงานท่องเที่ยวระดับโลกเช่น WTM
ติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวได้ที่ Facebook Travelista นักเดินทาง