ภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวไทยมาก ในช่วงของการเปิดประเทศ นั่นคือ #อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย กับการเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
จากโครงการวิจัย “กระบวนการการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน” โดยมีหัวหน้าโครงการ ดร.กาญจนา สมมิตร จากสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) ในฐานะผู้อำนวยการแผนวิจัย อาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ทั้งนี้สรุปสาระโดยโครงการขับเคลื่อนงานวิจัยชุดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยภายใต้ สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริม ววน. ดังนี้
ผลการวิจัยที่มีระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่เชียงราย บางกระเจ้า กระบี่ และ สตูล เป็นพื้นที่นำร่องงานวิจัยในเชิงปฏิบัติการ พบว่าทำให้เกิดอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยบนฐานข้อมูลระบบดิจิตอลที่ใช้งานได้จริง 1,124 ราย โดยงานวิจัยนี้ ค้นพบอาสาสมัครจำนวนมากที่มีความพร้อม และเป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน”การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน”
ภาคการท่องเที่ยวสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย
ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นแหล่งรายได้และแหล่งจ้างงานของคนไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังพบจุดอ่อนในหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานและงบประมาณในการดูแลความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
การดูแลการท่องเที่ยวของประเทศต้องใช้กำลังคน ทักษะและทรัพยากรจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งประเภทและจำนวน อาทิ อุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง (ทางบก 129 แห่ง ทางทะเล 26 แห่ง) วนอุทยาน 99 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่ง ชุมชนท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 80 ชุมชน
กลไก “อาสาสมัคร” มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลืองานส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ยังขาดองค์กรกลางที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ ในการเชื่อมประสานการทำงานของอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการท่องเที่ยวโดยตรง
กระทรวงการท่องเที่ยวหนุนตั้งอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย
หน่วยงานภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย” และให้การรับรองอย่างเป็นทางการ เพื่อให้องค์กรดังกล่าวทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานงานอาสาสมัครทางการท่องเที่ยวไทย ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
เมื่อการท่องเที่ยวของประเทศเริ่มกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นับเป็นโอกาสในยกระดับการความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย เช่น การเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยในสถานที่ท่องเที่ยว การเก็บขยะทะเล การทำแนวกันไฟป่าเพื่อลดปัญหามลพิษ เป็นต้น
ตอบโจทย์ปัญหาภาคการท่องเที่ยวผ่านกลไก “อาสาสมัคร”
ภาคการท่องเที่ยวของไทย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้และแหล่งจ้างงานของคนไทยจำนวนมาก ข้อมูลจากรายงานภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านการท่องเที่ยว (Tourism GDP) เท่ากับ 3,076,988.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Total GDP) อีกทั้ง ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2562 มีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวมากถึง 4.37 ล้านคน จากจำนวนการจ้างงานทั้งหมด 37.61 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.92
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ สะท้อนจากข้อมูลดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ที่ได้รับการจัดอันดับโดย World Economic Forum ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 31 จากทั้งหมด 140 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังพบจุดอ่อนในหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานและงบประมาณในการดูแลความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงทุกแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลต่อตัวชี้วัดที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety & Security) ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 111 จากทั้งหมด 140 ประเทศ และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 130 จาก 140 ประเทศ
จากการศึกษาพบว่า กลไกของ “อาสาสมัคร” สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ที่ผ่านมาพบว่าอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลืองานส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขและอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม แต่ยังขาดองค์กรกลางในการเชื่อมประสานการทำงานของอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการท่องเที่ยวโดยตรง จึงเป็นที่มาของชุดโครงการวิจัยเรื่อง “กระบวนการการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน” เพื่อศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาองค์กรกลาง ในการเชื่อมประสานงานอาสาสมัครทางการท่องเที่ยวไทย ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
ปัญหาของ “อาสาสมัคร” ที่พบในภาคการท่องเที่ยวของไทย
จากการศึกษาถึงปัญหาของ “อาสาสมัคร” ที่มีอยู่เดิมในภาคการท่องเที่ยวของไทย พบปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ดังนี้
จำนวนอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานมีเวลาจำกัด เนื่องจากอาสาสมัครบางคนมีงานประจำ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้การดำเนินงานขาดความต่อเนื่อง และการใช้บทบาทของอาสาสมัครไปแอบอ้างในทางที่ผิด
การขาดอุปกรณ์สนับสนุนให้อาสาสมัครใช้ในการทำงาน ซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
การขาดหน่วยงานกลางในการประสานงาน เมื่อมีเหตุอะไรที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถประสานงานกันได้ทันท่วงที เนื่องจากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง
หน่วยงานภาครัฐขาดการจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ศูนย์ให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว มีปริมาณเจ้าหน้าที่ค่อนข้างน้อย เกิดช่องว่างในการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
นโยบายของภาครัฐ รวมถึงกฎหมายเฉพาะพื้นที่บางครั้งส่งผลต่อการทำงานของอาสาสมัคร หรือการไม่สามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้ในบางสถานการณ์
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยขึ้น เพื่อเชื่อมการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริบทของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อลดช่องว่างของปัญหาในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
อาสาสมัครท่องเที่ยวไทยคือใคร ?
จากการวิจัยได้มีการกำหนดนิยามของ “อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย (อสท.)” หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ที่มีจิตอาสาช่วยเหลืองานในภาคส่วนต่าง ๆ ของการท่องเที่ยวซึ่งอาจจะได้รับหรือไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ได้แก่
อาสาสมัครท่องเที่ยวไทยในภาวะปกติ ประกอบด้วย กลุ่มของผู้ประกอบการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เช่น มัคคุเทศก์ กลุ่มผู้ให้บริการท่องเที่ยว และเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน
อาสาสมัครท่องเที่ยวไทยในภาวะฉุกเฉิน ประกอบด้วย กลุ่มมูลนิธิ สมาคมกู้ชีพ กู้ภัย หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ในการให้ความช่วยเหลือในเหตุภาวะฉุกเฉินต่างๆ
อาสาสมัครท่องเที่ยวไทยในรายกิจกรรม ประกอบด้วย บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร หน่วยงาน ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่มีความรู้ความสามารถต่าง ๆ และสนใจเข้าร่วมในงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย
“อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย” กับโอกาสในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว
จากการศึกษาพบว่า มีกลุ่มอาสาสมัครที่พร้อมช่วยเหลืองานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ภาคการท่องเที่ยวมีขนาดใหญ่ ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ มีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บขยะทะเล การวางทุ่นรักษาแนวปะการัง การทำแนวกันไฟป่าเพื่อลดปัญหามลพิษ ฯลฯ สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของอาสาสมัครในพื้นที่ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่ เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้งและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการบำเพ็ญประโยชน์ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จากแนวโน้มรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ (Volunteer Tourism) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยจุดเด่นของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ คือการบูรณาการกิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์กับการเดินทางท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน โดยการดำเนินการดังกล่าว อาจอยู่ในรูปแบบของอาสาสมัครในด้านต่างๆ เช่น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การสอนและการให้ความรู้ ฯลฯ
ในประเทศไทย มีความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์จากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาทำกิจกรรมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ช่วงก่อนวิกฤตโควิด) เช่น กลุ่มสถาบันการศึกษาในอังกฤษและประเทศในยุโรป กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กลุ่มสถาบันการศึกษาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งหากมีการจัดตั้งองค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยแล้ว จะเป็นแรงดึงดูดให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19
ข้อจำกัดของ “อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย” ที่พบในโครงการนำร่อง
จากการดำเนินการในโครงการนำร่อง พบข้อจำกัดที่สำคัญคือ อาสาสมัครท่องเที่ยว ไม่มีสถานภาพที่ได้รับการรับรองเหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุข ส่งผลให้อาสาสมัครที่พร้อมจะทำงานซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยว หากจะเข้าไปทำงาน มักจะพบปัญหาว่าจะเข้าไปในฐานะอะไร ถ้าหากมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย ให้มีสถานะเหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุข ก็จะมีสถานภาพที่จะเข้าไปทำงานในแหล่งท่องเที่ยวได้ อีกทั้งหากมีองค์กรที่เป็นตัวตน การขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น เกิดความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น การมีองค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยที่ได้รับการรับรองสถานะ จะทำให้อาสาสมัครเกิดความภาคภูมิใจและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ และจะมีส่วนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศในอนาคต
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาก “อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย”
เกิดการประสานความร่วมมือทั้งด้านกำลังคนและทรัพยากรในงานการท่องเที่ยวของประเทศ ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว
การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อเสริมกำลังคนในงานที่ขาดแคลน
อาสาสมัครท่องเที่ยวไทยสามารถกระจายไปได้ทุกแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทุกคนสามารถเป็น อาสาสมัครท่องเที่ยวไทย ได้ตามทักษะที่ตนมี
มีฐานข้อมูลทักษะพิเศษของอาสาสมัคร ที่เตรียมไว้รองรับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยตลอดการเดินทางท่องเที่ยว
เกิดการพัฒนาฐานข้อมูลการท่องเที่ยว เพื่อรองรับแบบการท่องเที่ยวส่วนบุคคล (Free Individual Traveler: FIT) ที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต
ลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2
ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาการท่องเที่ยว ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบ ผ่านการส่งเสริมการเข้าร่วมอบรมและการร่วมพัฒนาหลักสูตรอบรมทักษะด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะ
นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างความสมดุลให้กับการท่องเที่ยวไทย ผ่านการตลาดเฉพาะกลุ่ม การส่งเสริมวิถีไทย และการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพและความปลอดภัยให้กับประเทศไทย ผ่านการสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการป้องกันของประเทศไทย ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย และสิ่งที่ควรกระทำในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
หน่วยงานภาครัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ควรให้การสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “องค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย” และให้การรับรองสถานะอย่างเป็นทางการ รวมถึงมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้แก่
การบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานของอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย
การผลักดันเชิงนโยบายขององค์กรอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย
การดูแลระบบฐานข้อมูลอาสาสมัคร (IT HUB)
การสร้างระบบขวัญและกำลังใจให้กับอาสาสมัครท่องเที่ยว เช่น การมอบบัตรของขวัญ บัตรกำนัล ให้กับอาสาสมัครด้านการท่องเที่ยว
การบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในระดับประเทศเพื่อดำเนินงานอาสาสมัครท่องเที่ยวในภาพรวม
การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอาสาสมัครท่องเที่ยวให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสนับสนุนกำลังคนอาสาสมัครท่องเที่ยวแก่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่ร้องขอ
การประชาสัมพันธ์กิจกรรมอาสาสมัครท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมระดมทุน
การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคการท่องเที่ยวในต่างประเทศ
ควรจัดตั้งอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยในระดับพื้นที่
นอกจากนี้ในระดับพื้นที่ ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทยในระดับพื้นที่ ในรูปแบบขององค์กรเครือข่าย เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้แก่
การทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานหลักระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อดำเนินงานอาสาสมัครท่องเที่ยวในภาพรวม
การสอดส่องดูแล แจ้งเหตุและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเอง
การให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ของตน
การสนับสนุนกำลังคนอาสาสมัครท่องเที่ยวแก่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่ร้องขอ
การพัฒนากิจกรรมอาสาสมัครด้านการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
รัฐมนตรีท่องเที่ยวร่วมสนับสนุนชี้สำคัญเทียบเคียงอสม.
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ได้นำเสนอผลวิจัยต่อคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุม คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ในการจัดตั้งอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เห็นประโยชน์ ได้ร่วมสนับสนุน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการยกระดับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยเปรียบเทียบความโดดเด่นเทียบเคียงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีในการช่วยควบคุมด้านสุขอนามัยในทุกชุมชน
ดังนั้นอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย จึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในอนาคตของการท่องเที่ยวไทยในการช่วยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมรองรับการเปิดประเทศ
พร้อมกันนี้ที่ประชุมมอบหมายให้ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการผลักดันวาระการจัดตั้ง “องค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย”ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญของประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในด้านสาธารณสุขของประเทศ และอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทย จะเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการเปิดประเทศ ตามนโยบายของประเทศ เนื่องจากอสท.จะทำงานเป็นกลไกในการเฝ้าระวังเรื่องสุขอนามัยร่วมกับ อสม.ต่อไปในอนาคต
ขอบคุณที่ติดตามผลงานของ FB Travelista นักเดินทาง