ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นวิกฤติระดับโลกของมนุษยชาติ ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรการที่ทุกประเทศนำมาใช้คือการจำกัดการเดินทางรูปแบบต่างๆ ซึ่งเเน่นอน “ธุรกิจสายการบิน” คือด่านเเรกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว
แอร์เอเชียมีกลยุทธ์และเเนวทาง ในการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์มาตลอด เราต้องเก็บคองอเข่า และทำทุกวิถีทางให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ไม่เฉพาะเพียงบริษัท แต่รวมถึง “พนักงาน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าวันที่โอกาสมาถึง เราจะพร้อม plug and play ได้ทันที ซึ่งแน่นอนจึงเป็นงานที่ท้าทายที่สุดของ “ฝ่ายทรัพยากรบุคคล” ในสถานการณ์ครั้งนี้
ทักษะปรับตัวในการทำงานสู่การปรับตัวในชีวิต ผ่านวิกฤติโควิด-19
นางธีลฎี พันธุมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของแอร์เอเชีย คือเรามีธุรกิจหลักในการให้บริการเดินทางทางอากาศ ซึ่งเป็น mode of transportation ที่ “ความปลอดภัยและมาตรฐานบริการ” ต้องมาเป็นอันดับแรก สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในใจของผู้ปฏิบัติงานทุกคนอยู่เเล้ว เมื่อการระบาดของโควิด-19 มาถึง พนักงานทุกคนจึงมีสัญชาตญาณตื่นตัวและตระหนักรู้ทัน และพร้อมตั้งรับต่อทุกการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
“ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานต้องเป๊ะ ทั้งระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อตัวเองอย่างดีอยู่ตลอด เมื่อเกิดวิกฤติที่เราไม่คาดคิด ทุกคนจึงสามารถปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว นำมาใช้ได้ทั้งกับการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน”
นางธีลฎีกล่าวว่า การทำงานในสถานการณ์เเพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความที่ทุกคน โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ฝ่ายปฏิบัติการต่างๆ เช่น ลูกเรือ พนักงานภาคพื้น ติดนิสัยความละเอียดรอบคอบ จากการรับหน้าที่สำคัญในการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกกระบวนการอยู่เเล้ว เมื่อจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการสุขอนามัยต่างๆให้เข้มข้นขึ้น จึงไม่ใช่ปัญหา ทุกคนพร้อมช่วยกันคิดเเละปฏิบัติตามข้อระเบียบบังคับอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ดีกับทั้งผู้โดยสารเเละพนักงานทุกคนเอง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีมาตรการจำกัดการเดินทางป้องกันการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างๆ เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับลดเที่ยวบินเพื่อให้บริการ แม้บริษัทจะพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางนโยบายจำเป็นต้องส่งผลกระทบต่อพนักงานทุกคน โดยเฉพาะเรื่องรายได้
งานเสริมจัดหนัก งานหลักจัดเต็ม
ตั้งเเต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบเเรก เมื่อต้นปี 2563 โจทย์แรกๆ ของบริษัท คือต้องวางแผนปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด ควบคู่ทำให้เกิดผลกระทบกับพนักงานน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของโครงการ Second Job Opportunity ภายใต้เเนวคิด “งานเสริมจัดหนัก งานหลักจัดเต็ม”
“เมื่อเราจำเป็นต้องเริ่มนโยบายขอความร่วมมือพนักงานในการลางานโดยไม่รับค่าจ้าง เราต้องมีแผนรองรับในการหารายได้ในช่องทางอื่นๆ ของพนักงานมาพร้อมกันด้วย ซึ่งพนักงานเรามีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหาพาร์ทเนอร์จากบริษัทต่างๆ มาสร้างโอกาสการทำงานให้พนักงานที่สนใจ” นางธีลฎีกล่าว
กว่า 1 ปีครึ่งจากผลกระทบโควิด-19 แอร์เอเชียสนับสนุนเต็มที่เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ให้พนักงานได้ทำอาชีพเสริม ในความถนัดที่หลากหลาย เช่น หน้าที่รับผิดชอบใหม่ที่ท้าทาย ในหน่วยธุรกิจอื่นๆ ภายใต้กลุ่มแอร์เอเชีย อาทิ ผู้ดูแลจัดการระบบการกระจายสินค้าของ Teleport ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการขนส่งแบบครบวงจรในเครือแอร์เอเชีย และโอกาสที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจภายนอก อาทิ การฝึกอบรมพัฒนาเพื่อเป็นนักขายอสังหาริมทรัพย์ โดยอนันดา ดีเวล ลอปเม้นท์, ที่ปรึกษาด้านประกันชีวิต โดย AIA, ที่ปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์และบริการ Tune Protect, เจ้าหน้าที่แนะนำผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ, เชฟ ผู้จัดการร้าน บาริสต้า โดย กลุ่มธุรกิจโลตัส ประเทศไทย, พนักงานต้อนรับ โรงพยาบาลปิยะเวท และอีกมากมาย ซึ่งก็ได้รับความสนใจที่ดี เเละสามารถต่อยอดสร้างรายได้เสริมให้กับพนักงานอีกทางหนึ่ง
“สิ่งสำคัญในภาวะวิกฤติคือ การสื่อสารอย่างเปิดเผยเเละจริงใจ เราสื่อสารกันตลอดตั้งเเต่วันเเรกเมื่อเราเจอวิกฤติด้วยกัน ทั้งรูปแบบ Townhall จากพี่ๆ ผู้บริหาร หรือการรับฟีดเเบคจากพนักงานทุกคน ตลอดจนการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ WorkPlace ที่เอื้ออำนวยต่อการสื่อสารแบบสองทาง ทำให้เรารู้ว่าพนักงานมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรในเเต่ละช่วงสถานการณ์ และนำมาปรับพัฒนาวางแนวทางการทำงานให้เห็นภาพเเละเป้าหมายเดียวกันได้ ซึ่งต้องขอบคุณพนักงานทุกๆคน ที่พร้อมเสียสละ และสู้ไปด้วยกันอย่างดี”
สุขภาพกายต้องปลอดภัย “สุขภาพใจ” ต้องช่วยกันดูแล
People First คือหลักสำคัญในการทำงานของพวกเราชาวแอร์เอเชีย ซึ่งในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้นที่เราต้องใส่ใจ “สุขภาพใจ” ก็เป็นสิ่งที่เราเองก็มองข้ามไม่ได้
นางสาวบุญราศรี ฉายะวรรณ เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมองค์กร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ฝ่าย People And Culture (PAC) ห่วงใยและเห็นความสำคัญของสุขภาวะทางกายและใจของพนักงาน ที่เราเรียกทุกคนว่า Allstars มาตลอด จึงจัดโครงการเสริมสร้าง ดูแลความต้องการในด้านต่างๆของ Allstars ในช่วงการทำงาน work from home ที่ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“นอกจากการทำงานเชิงรุกร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อแสวงหาโอกาสและงานเสริมต่างๆ ให้พนักงาน เราต้องดูเเลพนักงานอย่างรอบด้าน ทั้งการบริหารและจัดการสุขภาพทางการเงินจากผู้เชี่ยวชาญ การหากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและใจ เช่น การออกกำลังกายออนไลน์ หัตถะโยคะ HIIT การให้ความรู้ทางด้านโภชนาการและควบคุมน้ำหนักจากแอปพลิเคชัน Naluri เป็นต้น”
นอกจากนี้บริษัทยังสนับสนุนการทำงานของแคมเปญ Peer Support ภายใต้ชื่อโครงการหลัก Allstars Health Coach ที่มีบริการปรึกษานักจิตวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต เป็นพื้นที่ให้พนักงานได้ระบายความเครียด ความกังวลที่ได้รับในด้านต่างๆของชีวิต พร้อมขอคำปรึกษาจาก พนักงานอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเป็นเพื่อนผู้ฟังที่ดี
เผย DNA ของชาวแอร์เอเชีย
DNA หนึ่งของชาวแอร์เอเชียคือ เราสามารถสนุกไปได้พร้อมๆกับการเรียนรู้เสมอ แม้สถานการณ์ที่จำเป็นต้องทำงานที่บ้าน บริษัทจึงมีแพลตฟอร์ม “AllstarsWFHmenu” ซึ่ง พนักงานสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในรูปแบบสัมมนาออนไลน์ต่างๆ อาทิ กิจกรรมสอนภาษา Funthai, สัมมนา Neurodiversity ตลอดจนกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลายความเครียด เช่น pantry talk (pet lovers, ghost stories, karaoke nights) และอีกมากมาย
การที่บริษัทเเละพนักงาน จะร่วมเเรงร่วมใจผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในธุรกิจที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างธุรกิจสายการบิน หัวใจสำคัญคือต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ใส่ใจ วางใจ สื่อสารเเละทำให้เห็นเป้าหมายเดียวกันให้ได้ ซึ่งถือเป็นจุดเเข็งของเเอร์เอเชีย ที่จะทำให้ทั้งบริษัทและพนักงานร่วมฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน