สกสว.และบพข. เตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ เพราะการท่องเที่ยวไทยยังต้องไปต่อในท่ามกลางโควิด-19 มั่นใจประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางโลก ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปา ร่วมบูมเชียงใหม่สู่สปาล้านนาต้นแบบ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน โรงแรมสมายล์ ล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของแผนงานวิจัยโครงการการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุก ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสสังคมในการดูแลรักษาสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการในการที่จะผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวด้วยที่ต้องปรับตัวและสร้างจุดขายใหม่ๆ ให้รองรับกระแสดังกล่าว
ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ดังนั้นการท่องเที่ยวไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โครงการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปา การนำชุดความรู้ใหม่ด้านกีฬาและสปาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไปใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อกำกับติดตาม เร่งรัด การดำเนินการโครงการวิจัยภายใต้แผนงานให้สำเร็จลุล่วงและเพื่อถอดบทเรียนการบริหารจัดการการดำเนินการโครงการวิจัยของแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ
จากการดำเนินการชุดโครงการวิจัยฯ ในปีที่ 1 ที่ผ่านมา ได้มีโครงการวิจัยภายใต้แผนงานจำนวน 5 โครงการได้แก่ 1) การพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในกลุ่มกิจกรรม มวยไทย ปั่นจักรยาน และวิ่ง (Fight Ride Run) สู่การท่องเที่ยวดิจิทัลของประเทศไทย 2) การจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟเพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกอล์ฟระดับโลก 3)การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในระดับสากล 4) การการพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5)การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพในระดับสากลด้วยนวัตกรรมบริการบนรากฐานมรดกวัฒนธรรมและจิตบริการแบบไทย และในปีที่ 2 ได้มีดำเนินการโครงการต่อเนื่องในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาเพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ต้นปี 2563 ใน
ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทำให้การเดินทางภายในประเทศและนอกประเทศ หยุดชะงัก นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ต่อรายได้ของประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการนี้สนับสนุนการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ได้มีการดำเนินการวิจัยที่ปรับเปลี่ยนไปและได้ผลการวิจัยที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินการที่ผ่านมาของทุกโครงการภายใต้แผนงานจะนำไปสู่การต่อยอดการใช้ผลงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป
ภายในงานมีการมอบโล่และป้ายการรับรองความเป็นสปาล้านนา ให้กับสถานประกอบการสปาล้านนาต้นแบบ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ลานนาคำ สปา , เชียงใหม่ สปามันตรา , เฮลท์ ลานนา สปา , ศิรา สปา ,ฟ้าล้านนา สปา และโอเอซิส สปา