คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับบริษัท กินรี กรูเม่ ไทย จำกัด ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรหลักสูตร ในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร 60 พรรษาราชสมภพ (604) ให้กับผู้เข้าอบรมโครงการอบรมหลักสูตร "Chitralada-Kin Restaurant concepteur" รุ่นที่ 1 ระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2564 มีผู้เข้าอบรมจำนวน 43 คน
หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และถ่ายทอดทักษะในการคัดเลือกวัตถุดิบ เครื่องปรุงรสอาหารไทยเพื่อการนำมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ พัฒนาความสามารถในการออกแบบอาหารและสร้าง Concept ร้านอาหาร ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเงิน การลงทุนในธุรกิจและหลักการบริหารธุรกิจร้านอาหาร เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าอบรมสามารถจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และนางสาววนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร กรรมการ บริษัท กินรี กูรเม่ ไทย เปิดเผยถึงโครงการอบรมหลักสูตร "Chitralada-Kin Restaurant Concepteur" นี้ เพื่อฝึกอบรมพัฒนานักศึกษา บุคลากรและคณาจารย์ในสถาบัน รวมถึงบุคคลภายนอกที่สนใจ เพื่อให้มีความรู้ในการจัดการครัว การตกแต่งอาหาร การสร้างสรรค์เมนูอาหาร ศิลปะการประกอบอาหารไทย แนวคิดการดำเนินธุรกิจและการเปิดร้านอาหารไทย
มุ่งสร้างร้านอาหารไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง ไปทั่วโลก
Chitralada-Kin Restaurant Concepteur รุ่นที่ 1 โครงการมุ่งเน้นให้ “คนไทยสร้างธุรกิจร้านอาหารไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ไปทั่วโลก” ด้วยการกระจายร้านอาหารไทยไปต่างประเทศ ผ่านการสร้างคอนเซ็ปต์ธุรกิจร้านอาหารไทย โดยให้ความสำคัญด้านวัฒนธรรมอาหาร รสชาติ สินค้า และความสร้างสรรค์ของบุคลากรไทย ที่จะเป็นศักยภาพในการหมุนเวียนผลประโยชน์และชื่อเสียงกลับมาที่ประเทศไทย (Country Benefit)
Chitralada-Kin Restaurant Concepteur รุ่นที่ 1 เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้คนไทยเป็นเจ้าของธุรกิจ สร้างสรรค์ด้วยการกระจายร้านอาหารไทยไปต่างประเทศ หรือสามารถอธิบายจากชื่อโครงการ Restaurant Concepteur (เรสเตอรองต์ คอนเซ็ปต์เตอร์) หมายถึง นักออกแบบคอนเซ็ปต์ธุรกิจร้านอาหาร หนึ่งในอาชีพที่เริ่มต้นโดยคนไทย ซึ่งเกิดจากแนวความคิดและประสบการณ์ของผู้ร่วมพัฒนาโครงการ นางสาววนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร (Kin Academy) ที่ประสบพบเจอกับร้านอาหารไทยในหลากหลายประเทศ หลากหลายภูมิภาค แต่กลับพบเจอปัญญาเดียวกันคือ รสชาติผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานอาหารไทย ด้วยชนิดที่ไม่มีการอิงแม้แต่รากฐานวัฒนธรรมอาหารไทย วัตถุดิบไทย และความรู้ด้านการปรุงอาหารไทยที่ถูกต้อง อีกทั้งเจ้าของและพนักงานยังเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด มีเพียงแค่ชื่อ Thai Restaurant ร้านอาหารไทยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ แต่กลับไม่ได้หมุนเวียนมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยและประโยชน์ของประเทศไทยอย่างที่ควรจะเป็น จากทั้งสินค้าไทยและบุคลากรไทย
เน้นขับเคลื่อนวัฒนธรรมอาหารไทย
จึงเป็นสาเหตุให้โครงการนี้มุ่งเน้นผลิต คอนเซ็ปต์ธุรกิจร้านอาหารไทย โดยคนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงให้ความสำคัญต่อหลักการออกแบบองค์ประกอบภายในร้านอาหารให้สามารถเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน วัฒนธรรมอาหารไทย รสชาติอาหารไทย สินค้าไทย และความสร้างสรรค์ของบุคลากรไทย ที่จะเป็นศักยภาพในการหมุนเวียนผลประโยชน์และชื่อเสียงของประเทศไทยได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Country Benefit ซึ่งผู้พัฒนาโครงการและ Restaurant Concepteur รุ่นที่ 1 อย่างผู้อบรมต้นแบบกลุ่มนี้ให้สำคัญเป็นอับดับหนึ่ง อีกทั้งยังนับเป็นวิสัยทัศน์หลักของโครงการนี้อีกด้วย
โดยแต่ละคอนเซ็ปต์ธุรกิจร้านอาหารไทยที่ Restaurant Concepteur ออกแบบจะมีความแตกต่างกันออกไป จากการหยิบเรื่องราวของวัฒนธรรมอาหารไทยที่มีอยู่เดิม นำออกมารังสรรค์ผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ทุกคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ ซ่อนเร้นด้วยความละเอียดประณีต แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้หลักพื้นฐานของรูปแบบธุรกิจสากล รวมถึงสามารถนำเสนอคอนเซ็ปต์ธุรกิจร้านอาหารไทยในมุมมองที่โดดเด่น แตกต่าง และน่าสนใจ สำหรับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยจากจุดนี้เป็นโอกาสในการต่อยอดเพื่อขยายและสามารถกระจายสาขาร้านอาหารไทยเหล่านี้ ร่วมกับนักลงทุนในทุกประเทศ ทั่วทุกภูมิภาค ได้อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านเครื่องมือที่มีชื่อว่าวัฒนธรรมอาหารไทย ด้วยแนวคิด “คนไทยสร้างธุรกิจร้านอาหารไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ไปทั่วโลก”