วันนี้พาไหว้พระ 9 วัดในเมืองไทยค่ะ เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน แต่หลายคนยังทำบุญไหว้พระกันอยู่นะคะ เลยขอพาไปไหว้พระ 9 วัดในที่ต่างๆในเมืองไทยค่ะ
1 พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กรุงเทพมหานคร “เป็นดั่งแก้วมณีล้ำค่าแห่งพุทธะ สุกสว่างอยู่กลางใจไทยและเป็นศูนย์รวมศรัทธาชาวสยามนามว่า พระแก้วมรกต สถิตเป็นสง่าราศรีคู่บารมีของราชอาณาจักรและราชวงศ์ เพื่อความสถาพรยืนยงตลอดไป”
หากจะกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทย ‘พระแก้วมรกต’ หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ พระพุทธรูปสีเขียวมรกต งามล้ำด้วยพุทธศิลป์ขั้นเอกอุ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ภายในพระบรมมหาราชวัง ถือได้ว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่มีผู้หลั่งไหลไปกราบไหว้นับล้านๆ คนทุกปี
การที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้นามว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นมี 2 สมมติฐาน คือหนึ่งเพราะเป็นสีเขียวเหมือนมรกต และสองคือตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นจากหินอมรโกฏ คนมักเข้าใจผิดว่าพระแก้วมรกตเป็นหินมรกต ทว่าความจริงแล้วสร้างขึ้นจากหินหยกอ่อนเนไฟรต์ (Nephrite) สีเขียวคล้ายมรกต พระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานยังหลายแหล่ง ทั้งลำปางและเวียงจันทน์ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ครั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้ว ตราบเท่าทุกวันนี้
2 พระใส จ.หนองคาย “สุกใสเรืองรองดั่งทองพิสุทธิ์ ผุดผ่องดั่งคำสอนของพระพุทธองค์ นี่คือพระพุทธรูปจากล้านช้าง ที่เดินทางมาเป็นหลักปักธงชัยให้เมืองหนองคาย ได้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตราบทุกวันนี้”
เชื่อว่าใครหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ พระสุก พระเสริม และพระใส 3 องค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีต้นกำเนิดขึ้นในอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) โบราณ และได้เดินทางผ่านกาลเวลา และหน้าประวัติศาสตร์มาประดิษฐานอยู่บนแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะ ‘พระใส’ แห่งวัดโพธิ์ชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย คือองค์พระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ที่เป็นเสมือนศูนย์รวมศรัทธาผู้คน
3 พระพุทธชินสีห์ กรุงเทพมหานคร “ล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาเมืองเหนือ ได้กราบแล้วเสริมดวงชะตาพาให้ปราศจากอุปสรรคเภทภัย ภายใต้พระนามพระพุทธชินสีห์สมบัติแห่งแผ่นดิน”
เราคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดีกับพระพุทธชินราชแห่งเมืองพิษณุโลก แต่หากเอ่ยถึงชื่อ ‘พระพุทธชินสีห์’ บางคนอาจไม่รู้จัก ทว่าจริงๆ แล้วพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ของหัวเมืองฝ่ายเหนือมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ทว่าไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ผู้ที่เคยไปธรรมบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และเคยเข้าไปในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร คงจะเคยเห็น ‘พระพุทธชินสีห์’ ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระประธานคือพระศรีศาดา นับเป็นภาพติดตาตรึงใจในพุทธศิลป์ ชั้นเชิงช่างโบราณที่หาตัวจับได้ยาก เพราะองค์พระนั้นงามผุดผ่องเหลืองอร่าม ได้สัดส่วน ราวกับจะชีวิตขึ้นมา
พระชินสีห์เป็นพระประจำผู้ที่เกิดเดือนหกไทย (เดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม) ปัจจุบันนี้ใต้แท่นประดิษฐานองค์พระพุทธชินสีห์ เป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของชาวไทยอีกด้วย
4 พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก “งามผุดผ่องเจิดจรัสดุจเทพนฤมิตร สถิตเป็นมิ่งขวัญชาวสยามนามพระพุทธชินราช ป่าวประกาศหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ผ่านศรัทธาแห่งพุทธะภายใต้พระปฏิมายิ่งใหญ่ สมเป็นที่สุดแห่งความงามด้านพุทธศิลป์เมืองสยาม”
พระพุทธชินราชแห่งเมืองพิษณุโลก ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในเมืองไทย และงดงามที่สุดองค์หนึ่งของโลก เพราะองค์ท่านมีพุทธลักษณะบริบูรณ์สมส่วนอย่างยิ่ง แลอวบอิ่มกลมกลึง อีกทั้งมีความอ่อนช้อยงดงามน่าเพ่งพินิจ โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์นั้นสงบเปี่ยมเมตตาพาให้ศรัทธา และมีซุ้มเรือนแก้วขนาดใหญ่ครอบองค์พระไว้ด้านหลัง ยิ่งเสริมความงามสีทองของทั้งองค์พระให้มลังเมลือง จับตาจับใจไม่ต่างจากเทพนฤมิตร
5 พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพมหานคร “พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เคารพสักการะของพระราชาธิบดีและประชาชนชาวสยามมาตลอดเวลากว่า 600 ปี รัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรสยามนั้น ก็ได้ทำขึ้นและรักษาไว้ภายใต้อานุภาพของพระพุทธสิหิงค์”
พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า ‘พระที่นั่งสุทธาสวรรย์’ เมื่อปี พ.ศ. 2330 พระองค์เสด็จไปเชียงใหม่ แล้วได้อัญเชิญ ‘พระพุทธสิหิงค์’ ลงมา พระองค์จึงทรงอุทิศพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธ
6 หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา “เพียงได้แลเห็นพระปฏิมาองค์มหึมาสีทองอร่ามประดิษฐานอยู่เบื้องหน้า ก็ทำให้ตกตะลึง ในความยิ่งใหญ่อลังการและพุทธศิลป์งามล้ำ สมเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอโยธยามาแต่โบราณ”
พระพุทธไตรรัตนนายกแห่งวัดพนัญเชิง หรือที่ผู้คนทั่วไปเรียกขานกันติดปากในนาม ‘หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง’ และ ‘หลวงพ่อซำปอกง’ นี้ คือพระปฏิมาสูงกว่า 20 เมตร หน้าตักกว้างถึง 19 เมตร ประดิษฐานอยู่อย่างสงบงามภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตรงมุมทิศใต้ของเกาะเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงศรีอยุธยา ทว่ามิได้ยิ่งใหญ่เพียงขนาดที่ต้องแหงนมองคอตั้งบ่าเท่านั้น แต่ยังน่าศรัทธาด้วยพระพักตร์เปี่ยมเมตตา
7 พระนอนวัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร “มหาพุทธศิลป์ไสยาสน์เด่นสง่า บ่งบอกตัวตนแห่งยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นอันรุ่งเรืองเฟื่องฟู ใครได้ดูได้เห็นเป็นต้องประทับใจ ในฝีมือเชิงช่างชั้นเลิศ และปริศนาธรรมที่ซ่อนอยู่ภายในอย่างแยบยล”
พระนอนวัดโพธิ์ หรือชื่อเต็ม ‘พระพุทธไสยาสน์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร’ คือพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุดองค์หนึ่งในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งในเหล่าพุทธชนผู้ศรัทธา และผู้มาเยือนจากต่างแดนล้วนก็อย่างชื่นชมเห็นกับตาสักครั้งในชีวิต เพราะพระนอนมหึมาองค์นี้ ถือว่าเป็นพระนอนใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกทั้งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทยรองจากจากนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง
8 หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา “จากความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จากแต่เดิมเขียนว่า “โสทร” มีความหมายว่า “พี่น้องร่วมอุทร” เพราะตำนานหลวงพ่อโสธรนี้ มาจากพระพุทธรูปลอยน้ำมา”
หลวงพ่อโสธร หรือหลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยาตอนต้น ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ
ลักษณะขัดสมาธิราบปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนง (คิ้ว) โก่งเล็กน้อย พระเนตร (ตา) เล็กหรี่ เหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์ (ปาก) เล็ก พระพักตร์ขรึมตามแบบอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลจากศเขมร แต่ได้เสริมแต่งขึ้นจากเดิมโดยพอกปูนในภายหลัง (ปัจจุบันกะเทาะปูนออกแล้ว) และลงรักปิดทองให้เป็นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว มีพุทธศาสนิกชนจาก
9 พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร “ องค์งดงามหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคก่อน 25 พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย”
พระศรีศากยมุนีประดิษฐานในวัดสุทัศนเทพวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ ได้มีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช 7 วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ตรงใต้ฐานที่ผ้าทิพย์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระพุทธรูปมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และ ปางประทานเทศนาในสวรรค์ เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก เข้าใจว่าจะมีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก
เรื่องและภาพโดย Travelista นักเดินทาง
ลายน้ำและลิขสิทธิ์ภาพโดย Ghost Writer Ta