ภาพเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หรือที่โลกตะวันตกเรียกกันภายใต้ชื่อย่อว่า MBS มกุฎราชกุมารรัชทายาท ว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย
(Credit Photo by SPA / AFP)
พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติตะวันตกจากการเดินหน้าปฏิรูปสังคมซาอุดีอาระเบียในหลายด้าน โดยเฉพาะเปิดเสรีแก่สตรีมากขึ้น ท่ามกลางสังคมซาอุฯ ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด
พระองค์ยังเป็นผู้เปิดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 อันเป็นแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาภาคบริการสาธารณะ เปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน การเพิ่มการค้าระหว่างประเทศที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
พระองค์ยังได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือน ระหว่างวันที่ 25 – 26 ม.ค.เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ
นับเป็นการฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี คาดนักท่องเที่ยวจากซาอุเข้าไทยทำรายได้ปีละ 5,000 ล้าน แรงงานไทยกลับเข้าซาอุฯได้ อดีตเคยเข้าปีละ 3 แสนคน สร้างรายได้ส่งกลับไทยมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ และเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี
สองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อจากนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาในช่วงที่ผ่านมา
ในระยะแรกจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี เพื่อรื้อฟื้นและส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การค้าและการลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สาธารณสุข และการท่องเที่ยว รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ สิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันที่จะร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบพหุภาคีต่างๆ อาทิ องค์การ OIC (โอไอซี) อาเซียน GCC (จีซีซี) รวมถึงการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ด้วย
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับการอนุญาตให้แรงงานไทยกลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียได้ รวมถึงการส่งเสริมแรงงานฝีมือและเฉพาะทางของไทย
การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไทยและซาอุดีอาระเบียสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายในการพัฒนาของกันและกัน โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย และวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030
การฟื้นฟูความสัมพันธ์ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับไทยและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะ “ครัวโลก” เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย และในฐานะ “ศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยว” ของไทย
โดยคาดว่า นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย ในฐานะที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันอันดับต้นของโลก
นอกจากนี้ เมื่อการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันกลับมาเป็นปกติ ก็จะสามารถรื้อฟื้นการกลับเข้าไปทำงานในซาอุดีอาระเบียของแรงงานฝีมือ แรงงานภาคบริการ และแรงงานเฉพาะทางของไทย ซึ่งก่อนการลดความสัมพันธ์ระหว่างกัน เคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้ส่งกลับประเทศไทยมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี
นายกรัฐมนตรีระบุว่าไทยได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับซาอุดีอาระเบีย และแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 ยืนยันว่าไทยได้พยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่าง ๆ และหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา