Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

3 สายการบินของไทยอ่วมปี 64 ขาดทุนรวมกัน 34,948 ล้าน

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 21 มีนาคม 2565 15:17:39 จำนวนผู้ชม : 47268
3 สายการบินของไทยอ่วมปี 64 ขาดทุนรวมกัน 34,948 ล้าน

ธุรกิจการบินในปี 2564 ของ 3 สายการบินของไทยอ่วมแค่ไหน

Travelista รวบรวมมานำเสนอค่ะ

 

โดย 3 สายการบินขาดทุนรวมกัน 34,948 ล้านบาท ค่ะ

แยกเป็น

การบินไทย ขาดทุนปี 64 รวม 19,702 ล้าน

บางกอกแอร์เวย์ส  ขาดทุนปี 64 รวม 8,599 ล้าน

ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุนปี 64 รวม 6,647 ล้าน

 

หวังว่าการท่องเที่ยวและเดินทางในปี 2565 จะเริ่มฟื้นตัวกันได้นะคะ

 

เริ่มที่ #การบินไทย

การบินไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 เดินหน้าหาสินเชื่อใหม่ ปรับโครงสร้างทุน ลดภาระภาครัฐ สร้างรายได้เพิ่มต่อเนื่อง

 

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712
ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท

 

แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%)

 

เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวัน
เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ

 

ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียงร้อยละ 20
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564 อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง


บริษัทฯ จึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบ
ร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม ศกนี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป

 

ทางด้าน #บางกอกแอร์เวย์ส

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ประกาศผลการดำเนินงานปี 64 มีรายได้รวม 5.6 พันล้านบาท เทียบปี63 ลดลงร้อยละ 44.5 ขาดทุนสุทธิ 8.59 พันล้านบาท

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,668.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 44.5 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทฯต้องหยุดปฏิบัติการบินชั่วคราวตามมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564

 

โดยรายได้รวมที่ลดลงดังกล่าว เป็นผลมาจากรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสายการบินลดลงร้อยละ 78.7 รายได้จากธุรกิจสนามบินลดลงร้อยละ 75.7 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องลดลงร้อยละ 20.1 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8,145.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 45.4

 

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสาร 536,304 คน ลดลงร้อยละ 71.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 58.6 สำหรับผลขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ ในปี 2564 เท่ากับ 8,599.8 ล้านบาท

 

โดยมีรายการขาดทุนสุทธิจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย จำนวน 5,434.7 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 เท่ากับ 2,532.5 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปี 2563”

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการบิน ให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมถึงปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย

 

กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-ตราด, กรุงเทพฯ-กระบี่, หาดใหญ่-ภูเก็ต, สมุย-ภูเก็ต, อู่ตะเภา-ภูเก็ต และอู่ตะเภา-สมุย รวมทั้งเที่ยวบินพิเศษภายใต้นโยบายนำร่องเปิดประเทศของภาครัฐ โครงการสมุยพลัส และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย, สมุย-ภูเก็ต และสมุย-สิงคโปร์

 

ส่วน #ไทยแอร์เอเชีย

ไทยแอร์เอเชีย เผยไตรมาส4 และตลอดปี 2564 ธุรกิจปรับตัวดีแต่ช้ากว่าที่คาดจากราคาน้ำมันและโควิด-19 หลายระลอก

ตั้งเป้าหมายปี 2565 ยอดผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน อัตราขนส่งร้อยละ 78 เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องหลังเพิ่มทุนสำเร็จอย่างดี พร้อมสร้างโอกาสเเละขยายการเติบโตใน airasia Super App

บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ.#ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/2564 มีรายได้รวม 2,152 ล้านบาท ขาดทุน 993 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวในทิศทางที่ดีแต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้อกำหนดการคัดกรองผู้โดยสารจากต่างประเทศ และแผนชะลอการเปิดประเทศช่วงปลายปี 

ในขณะที่ตลอดปี 2564 AAV มีรายได้รวม 4,508 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน 6,647 ล้านบาท จากผลกระทบโดยรวมของการเเพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก กอปรกับภาครัฐได้ประกาศให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานในเส้นทางการบินภายในประเทศ ห้ามปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ส่งผลให้เที่ยวบินภายในประเทศจำเป็นต้องระงับชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 3 เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี TAA กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศสู่ประเทศมัลดีฟส์ และกัมพูชาอีกครั้ง ตามนโยบายเปิดประเทศ โครงการ Test & Go ก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้รัฐบาลระงับโครงการ Test & Go ชั่วคราวอีกครั้ง ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารตลอดปี 2564 อยู่ที่ 2.93 ล้านคนและมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 68  ตลอดทั้งนี้ TAA รักษามาตรฐานความตรงต่อเวลาของเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการตรงต่อเวลาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 97 จากร้อยละ 96 ของปีก่อน ดีกว่าเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัทตามนโยบายความยั่งยืนที่ร้อยละ 90 

เร็ว ๆ นี้ AAV และบริษัทย่อย ดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างและเพิ่มทุนแล้วเสร็จเป็นจำนวนเงิน 14,000 ล้านบาท พร้อมทั้งทำธุรกรรมขายและเช่ากลับเครื่องบินจำนวน 7 ลำ เป็นมูลค่าสุทธิราว 1,700 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องให้ธุรกิจ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างยั่งยืน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีที่ยากลำบากจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่จำเป็นต้องระงับการบินทุกเส้นทางชั่งคราว เพื่อช่วยกันป้องกันการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องเเละกระเเสเงินสด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการปรับลดขนาดองค์กรให้เหมาะสม พร้อมหาเงินทุนปรับโครงสร้างกิจการได้สำเร็จในช่วงท้ายปี ซึ่งทำให้บริษัทพร้อมเต็มที่สำหรับการแข่งขันและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่สุด 

“ตลอดปีบริษัทไม่เคยหยุดนิ่งในการปรับตัวและแสวงหาทุกโอกาสที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจด้านคาร์โก เช่าเหมาลำ และประโยชน์จากการปรับโฉมแบรนด์สู่ airasia Super App บุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และครอบคลุมขึ้น ต่อยอดธุรกิจสายการบินได้อย่างดี” นายสันติสุขกล่าว

ในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวธุรกิจ ซึ่งบริษัทวางแผนเดินหน้ารุกเพิ่มความถี่และเส้นทางบิน สอดคล้องบรรยากาศการท่องเที่ยวเดินทาง โดยคาดว่าจะกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศร้อยละ 100 พร้อมเปิดเส้นทางระหว่างประเทศได้ต่อเนื่องต่อไป อีกทั้งวางกลยุทธ์ให้ฐานปฏิบัติการการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เสริมความแข็งแกร่งเส้นทางบินภายในประเทศ สร้างโอกาสการขนส่งทางอากาศควบคู่แผนขยายเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มความสะดวกปลอดภัย ลดการสัมผัส ผ่านระบบจดจำใบหน้า ซึ่งจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายขนส่งผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 78 โดยไม่มีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่ม พร้อมวางแผนคืนเครื่องบินหมดอายุตามสัญญาเช่าและหมุนเวียนเครื่องบินภายในกลุ่มแอร์เอเชีย คาดการณ์บริษัทจะมีฝูงบินอยู่ที่ 53 ลำ ณ สิ้นปี

 

 

 

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 47268

© www.bloggertravelista.com 2018