ปกติไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมแบบทั่วไป โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรี! เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 3 รอบ รอบละ 40 คนเท่านั้น คือ • 11.00 – 12.00 น. • 13.30 – 14.30 น. และ• 15.00 – 16.00 น.และชวนแต่งกายชุดไทยเข้าชมวังค่ะ ซึ่งวังนี้ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมมาแล้วกว่า 5 ปี
สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์และความงามของสถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหมได้ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดเดือนเมษายนนี้
สำรองเข้าเยี่ยมชมทาง https://services.botlc.or.th/PhysicalDistancing นะคะ
วังบางขุนพรหม เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา
ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตกทั้ง นีโอ-บารอก โรโกโก อาร์นูโว และ อาร์ตเดโค ทำให้วังบางขุนพรหม ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวังที่สวยที่สุดเมืองไทย และเป็นวังที่สถาปัตยกรรมบารอกและโรโคโค ที่สมบูรณ์ที่สุด
วังบางขุนพรหม ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนซองส์ ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก ประตูวังสร้างด้วยเหล็กดัดและเสาปูนประดับลวดลายปูนปั้นที่งดงาม กึ่งกลางสนามมีน้ำพุประดับขอบบ่อด้วยรูปเงือกฝรั่งชายหญิงและสัตว์น้ำต่างๆ
วังบางขุนพรหมอยู่ในเนื้อที่ 33 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหม มีตำหนักรวม 2 ตำหนัก ได้แก่ ตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ โดยตำหนักใหญ่ ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยการออกแบบของคาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี มาดำเนินการออกแบบจนแล้วเสร็จ ส่วนตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักที่เพิ่มเติมติดกับตำหนักใหญ่ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454 ภายหลังสร้างแล้วเสร็จได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี จนถึงปี พ.ศ. 2470
เมื่อมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 วังแห่งนี้ได้ตกเป็นของรัฐบาล กลายเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ทั้ง กรมยุวชนทหารบก สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
เมื่อ พ.ศ. 2496 มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก็จัดตั้งสำนักงาน บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และทำการถ่ายทอดจากที่นี่ เมื่อ พ.ศ. 2498 เรียกว่า สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ต่อมาย้ายออกไปใน พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ตามลำดับ
ปัจจุบัน วังบางขุนพรหม เป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยภายในวังบางขุนพรหมมี ห้องสีชมพู และห้องสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา วิจิตร และมีชื่อเสียงที่สุด เดิมเป็นห้องรับแขกสำคัญ และบำเพ็ญพระกุศลของวังบางขุนพรหม
ปัจจุบันจัดแสดง ภาพเขียน ภาพถ่ายเจ้านายในราชสกุลบริพัตร สิ่งของเครื่องใช้ในวังบางขุนพรหม เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทั้ง 2 ห้องอยู่ในตำหนักใหญ่ หรือ ตำหนักทูลกระหม่อม ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบ บาโรก และโรโกโก เป็นตึก 2 ชั้น ที่ปลายปีกอีกด้านหนึ่งเป็นหอกลม 3 ชั้น ความงามของตึกจะอยู่ที่ลักษณะเสาชนิดต่าง ๆ ทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว ตามหัวเสาประดับด้วยลวดลายปูนปั้น หน้าต่างมีหลายแบบ มีหน้าต่างรูปไข่ ล้อมด้วยลายปูนปั้นรูปดอกคัทลียา และหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมมีรูปเครือไม้และผลไม้ หลังคาเป็นแบบทรงมังซาร์ด
ภายในมีบางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้ด้วยนะคะ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง (พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ทรงเขียนถึงการศึกษาของพระองค์และเจ้าน้อง* ไว้ว่า “เนื่องจากข้าพเจ้ามิได้เข้าศึกษาในโรงเรียนหนึ่งโรงเรียนใด ด้วยเสด็จย่า (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) ทรงพอพระทัยที่จะเลือกหาครูมาเริ่มสอนที่วังตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาไทยจนถึงภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ฉะนั้นการศึกษาของพวกข้าพเจ้าจึงเรียกได้ว่าเรียนรู้มาในวังบางขุนพรหม ซึ่งนับว่าแปลกกว่าการเล่าเรียนของกุลบุตรีอื่น ๆ เสด็จย่ายังโปรดให้ผู้อื่นเข้าเรียนด้วยอาทิ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา หม่อมเจ้าผจงรจิตร กฤดากร และเรียนร่วมกันมาหลายปี หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร และชาวต่างประเทศที่รู้จักมักคุ้นพากันล้อเรียกว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” รัชกาลที่ 7 และพระราชินีทรงเห็นขำในคำนี้จึงทรงเรียกตามจนติดพระโอษฐ์ว่า “พวกยูนิเวอร์ซิตี้”
และได้ชมศาลาแตร เป็นศาลาวงกลม สร้างแบบยุโรปเรียกกันว่า "กระโจมแตร" ใช้เป็นที่ตั้งวงดนตรีแตรวงของทหารเรือ ทหารบก เมื่อมีการเลี้ยงต้อนรับแขก
ข้อปฏิบัติในการเยี่ยมชม
• ต้องแสดงผลการตรวจ ATK ไม่เกิน 3 วัน
• ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ
• รักษาระยะห่าง
• ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
และขอแนะนำให้แต่งไทยไปชมนะคะ จะได้บรรยากาศวังย้อนยุคดีเลยค่ะ
เรื่องและภาพโดย Travelista นักเดินทาง