Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณฟื้นตัว

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 17 พฤษภาคม 2565 16:22:11 จำนวนผู้ชม : 7441
การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณฟื้นตัว

การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณฟื้นตัวหลังการเปิดประเทศของหลายชาติ และการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการเดินทางทั่วโลก

 

การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณฟื้นตัว

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 11,181 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,797 ล้านบาท (155%) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 6,719 ล้านบาท (255.7%) มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 14,348 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2,967 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,167 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 3,830 ล้านบาท (54.7%)

 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 3,243 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8,962 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,247 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.49 บาท ในขณะที่ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท
 
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 162,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,204 ล้านบาท หนี้สินรวมมีจำนวน 236,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,439 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 74,486 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้นจำนวน 3,235 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย

 

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการที่รัฐบาลนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,238 และ 10,870 คนต่อวันจาก 4,929 และ 269 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อวันของบริษัทฯ กลับไปอยู่ในระดับร้อยละ 50 ของปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เป็นต้นไป การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินไป-กลับในเส้นทางต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 หลังจากเดินทางมาถึงสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ ดังมีรายละเอียดเส้นทางบินที่มีการปรับเพิ่มความถี่และเปิดให้บริการใหม่ดังนี้

 

เส้นทางบินที่ปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการ
- เชนไน (อินเดีย)             จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                     ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- เบงกาลูรู (อินเดีย)         จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                     ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- นิว เดลี                           จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                  ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- มุมไบ                              จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                     ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565
- ละฮอร์ (ปากีสถาน)        จาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                    ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- การาจี                             จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                   ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- อิสลามาบัด                     จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                   ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- ฮานอย                            จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                 ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 
- โฮจิมินห์                          จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- พนมเปญ                         จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- เมลเบิร์น                          จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                  ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2565
- ลอนดอน                         จาก 11 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์              ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2565
- จาการ์ตา                         จาก 3 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                  ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- ธากา (บังคลาเทศ)          จาก 7 เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- แฟรงก์เฟิร์ต                     จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์             ตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2565
- ไทเป                                 จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- สิงคโปร์                             จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์            ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- โคเปนเฮเกน                     จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- มิวนิก                               จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- ซูริก                                  จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

 

เส้นทางบินที่เปิดให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่
- ปีนัง                                  4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                                    ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- เวียงจันทน์                       3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                                    ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
- บาหลี (เดนปาซาร์)         4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                                    ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565
                                          เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                      ตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2565
- ไฮเดอราบัด                     วันละ 1 เที่ยวบิน                                           ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565
- ย่างกุ้ง                              วันละ 1 เที่ยวบิน                                           ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565
- โตเกียว (ฮาเนดะ)            วันละ 1 เที่ยวบิน                                          ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- เกาสง (ไต้หวัน)                วันละ 1 เที่ยวบิน                                          ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- บรัสเซลส์                         3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์                     ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม ถึง 30 สิงหาคม 2565

 

นอกจากการปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินและการเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิข้างต้นแล้ว สายการบินไทยสมายล์ยังจะเปิดทำการบินในเส้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปกลับจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปอีกด้วยฃ

 

ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงการบริการเพื่อมอบประสบการณ์ลูกค้าที่เหนือระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการห้องโดยสารชั้นหนึ่งในเที่ยวบิน TG910/911 ในเส้นทางลอนดอน และ TG600/601 ในเส้นทางฮ่องกง ด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ลำใหม่ ด้วยที่นั่งที่กว้างขวางขึ้น จอภาพที่ใหญ่ขึ้น และระบบสื่อสาระบันเทิงที่ครบครันกว่าพันรายการ พร้อมรังสรรค์เมนูอาหารนานาชาติ ที่ผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง รสเลิศ พร้อมทั้งรายการเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น จัดเตรียมไว้ต้อนรับผู้โดยสาร ในเที่ยวบินดังกล่าว

 

อีกทั้งมีการปรับปรุงเมนู และการให้บริการอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ อาทิเช่นการเพิ่ม อาหารเรียกน้ำย่อย (Amuse-bouche) และเมนูอาหารว่างระหว่างเที่ยวบิน (All Day Dining) โดยมีการนำเมนูสตรีทฟู้ด ยอดนิยมของไทย เช่นผัดไทยเส้นจันท์  และข้าวเหนียวมะม่วง มาให้บริการในเส้นทางยุโรป เป็นต้น พร้อมกันนี้ผู้โดยสารในชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และสมาชิกบัตรแพลทตินัม และบัตรทอง รอยัล ออร์คิด พลัส สามารถเลือกอาหารล่วงหน้าได้ก่อนเดินทางผ่านบริการ Pre Select Meal ที่เว็บไซต์ thaiairways.com

 

ในฐานะสายการบินแห่งชาติ การบินไทย มุ่งมั่นสนับสนุน สินค้าแบรนด์ไทยและเกษตรกรชาวไทยในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อช่วยสร้างงานเสริมอาชีพ เช่น มีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำกาแฟดอยตุงที่คั่วเป็นพิเศษสำหรับการบินไทยมาให้บริการในชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจ และยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเช่น มีการนำช็อคโกแลต กานเวลา ช็อคโกแลตแบรนด์ไทยที่ได้รางวัลระดับโลกมาให้บริการในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ บริษัทกำลังจะนำบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (Inflight Wi-Fi) กลับมาให้บริการ พร้อมนำเสนอระบบหนังสือดิจิทัล (e-Reading Platform) สำหรับผู้โดยทุกชั้นบริการในเร็วๆนี้ เพื่อความสะดวกสบายและสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ประทับใจ และยังได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทั้งในส่วนของสำนักงานบัตรโดยสารและเคาท์เตอร์เช็คอิน ฯลฯ  

 

ทิศทางการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าข้างต้นที่ทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทฯ ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา

การบินไทย-ไทยแอร์เอเชีย ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณฟื้นตัว

ด้านไทยแอร์เอเชียหรือ AAV ประกาศผลประกอบการ “ไทยแอร์เอเชีย” ไตรมาส 1 ปี 2565 ขาดทุน 2,370.6 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมั่นใจการฟื้นตัวยังเเข็งเเกร่ง ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 48 % พร้อมเดินหน้าเปิดเส้นทางระหว่างประเทศต่อเนื่อง รับมาตรการผ่อนคลายเดินทางเข้าประเทศ

 

วันที่ 17  พฤษภาคม 2565 บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2565  มีรายได้รวม 2,091.0 ล้านบาท และ ขาดทุน 2,370.6 ล้านบาท โดย TAA ฟื้นตัวแข็งเเกร่งอย่างน่าพอใจ มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 73 เพิ่มขึ้น 7 จุด ยอดขนส่งผู้โดยสารสูง 1.45 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

โดยราคาค่าโดยสารเฉลี่ยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,018 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนขายและการบริการเพิ่มขึ้นตามปริมาณเที่ยวบิน กอปรกับราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยปรับขึ้นร้อยละ 61 จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยหลักจากค่าธรรมเนียมการขายและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนของบริษัท

 

ทั้งนี้ยอดผู้โดยสารยังมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังมาตรการเข้าประเทศผ่อนคลาย ทำให้ TAA สามารถเพิ่มความถี่บินเเละเปิดเส้นทางใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าในไตรมาสที่ 1 เราได้รับสัญญาณที่ดีชัดเจนจากบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และมาตรการการเดินทางเข้าประเทศที่ผ่อนคลายตามลำดับ จนถึงปัจจุบันในไตรมาสที่ 2 ที่ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศเเล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ ในการเพิ่มเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้ TAA สามารถเพิ่มเที่ยวบินเป็น 11,002 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และวางเป้าหมายในการเพิ่มเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ๆ ต่อเนื่องในตลาดอาเซียนและเอเชียใต้

 

ล่าสุดเราพร้อมเปิดบินแล้ว 8 ประเทศ 19 เส้นทางบิน สู่ มัลดีฟส์ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และลาว เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรกๆ ในการกลับมาท่องเที่ยวใช้จ่ายอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19

 

 “TAA เดินหน้ากลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จึงทยอยเพิ่มปริมาณที่นั่งและเที่ยวบินให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ในไตรมาสที่ 1 ถือเป็นช่วงแรกของการฟื้นตัวธุรกิจที่น่าพอใจมาก และเราเชื่อมั่นว่าในไตรมาสต่อๆ ไป เราจะกลับมารุกตลาดเส้นทางระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเส้นทางเดิมที่เราเคยให้บริการอยู่เเล้ว เเละสีสันใหม่ๆ ในเส้นทางบินสู่ประเทศญี่ปุ่น  ที่ TAA จะบุกตลาดเป็นครั้งแรก ซึ่งขอให้ทุกคนรอติดตาม” นายสันติสุข กล่าว

 

ทั้งนี้ตลอดการดำเนินงาน TAA ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนามาตรฐานบริการ  โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัยเเละความตรงต่อเวลา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ TAA  โดยในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียได้รับรางวัลมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดด้วยเรตติ้ง 7/7 จาก airlineratings.com ในขณะที่ TAA ติด 3 อันดับแรก “สายการบินราคาประหยัดที่ตรงเวลามากที่สุดในโลก” จากการจัดอันดับของ Cirium

 

รวมทั้งคว้า 2 รางวัลมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ระดับสูงสุด ประเภทกิจการยานพาหนะทางอากาศ และ The Best of SHA (ระดับ 3 ดาว) เป็นสถานประกอบการยอดเยี่ยมที่มีมาตรฐาน SHA สูงกว่าเกณฑ์มากที่สุด จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตอกย้ำว่า TAA ยังคงเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดอันดับหนึ่งที่มีความพร้อมมากที่สุดในทุกด้าน พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งเมื่อโอกาสมาถึง

 

สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เป็นต้นไป ถือเป็นช่วงที่ TAA รุกทำแคมเปญการตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะแคมเปญ SUPER+ ตั๋วบินสนั่นทั่วไทยและอาเซียนแบบเดินทาง 1 ปี พร้อมบริการส่งอาหารฟรีจาก airasia Food และประกันบอกเลิกการเดินทาง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งนี้ TAA ตั้งเป้าหมายตลอดปี 2565 ขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 10.4 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 78 ความตรงต่อเวลาร้อยละ 90 และจบสิ้นปี 2565 ด้วยฝูงบิน 53 ลำ

#การบินไทย #ไทยแอร์เอเชีย #Thaiairways #ThaiAirasia #Airasia #TG

 

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 7441

© www.bloggertravelista.com 2018