Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 28 กรกฏาคม 2565 16:49:57 จำนวนผู้ชม : 10398
มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

ชวนกันไปชื่นชมผลงานประณีตศิลป์ล้ำเลิศของเมืองไทย จากช่างฝีมือชั้นครูผู้ร่วมกันสืบสานหัตถศิลป์ความเป็นไทยมิให้สูญหาย ตื่นตากับภูมิปัญญาลึกซึ้ง และรายละเอียดของชิ้นงานวิจิตรบรรจงดั่งเทพนฤมิตร จนเราต้องตะลึง

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

นี่คือส่วนหนึ่งใน E-Book สัมผัสเมืองไทย ต้องไปสักครั้ง 100 Best Places to Visit in Thailand ต้อนรับ ReOpen Thailand สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณี มหัศจรรย์ธรรมชาติ หัตถศิลป์ถิ่นไทย ภูมิปัญญายั่งยืน เที่ยวเชิงอาหารและสุขภาพ เที่ยวตามเทรนด์ (Workation & BCG Go Green)

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

สนับสนุนการจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตรทั้ง ทิพยประกันภัย , BAM , บางกอกแอร์เวย์ส ,ฮาตาริ อิเลคทริค เนื้อเรื่องโดย 3 นักเขียนที่มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊คกว่า 130 เล่ม ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล สาธิตา โสรัสสะ และชาธร โชคภัทระ

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

มาพบกับ 10 เรื่องราวของ มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย กันค่ะ

1 เครื่องทองโบราณ ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

งานประณีตศิลป์ทรงคุณค่า งดงามตระการตา

งามล้ำค่าตระการตามากกับงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวศรีสัชนาลัย ที่บรรจงทำเครื่องทองสมัยโบราณได้อย่างสวยงามมาก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวไทย และชาวต่างชาติ มีการศึกษา และฟื้นฟูกรรมวิธีการถักทองแบบโบราณขึ้นมาอีกครั้ง

งานทองสุโขทัยนั้นเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้มือทำขึ้นมาล้วนๆ นอกจากนี้ยังใช้ทองสูงถึง 99.99% ทำให้ทองโบราณสุโขทัยมีสีสวยแปลกตากว่าทองทั่วไป ทองโบราณเป็นงานหัตถกรรมที่ประณีต งดงาม และมีคุณค่าสูงยิ่ง

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

2 เครื่องทองโบราณ จังหวัดเพชรบุรี

ศิลปะแบบไทยโบราณ ผนวกศิลปะพื้นบ้าน สู่มรดกทางวัฒนธรรม

งานศิลปหัตถกรรมผลงานของช่างสกุลเมืองเพชรมีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร และมีศาสตร์หลากหลายแขนงตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ งานเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จึงมีการส่งช่างหลวงในสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งรวมถึงช่างทองหลวงเข้าไปยังเมืองเพชรบุรี จนเกิดการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในท้องถิ่น

เครื่องทองเมืองเพชร มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวคือ มีความเป็นงานศิลปะแบบไทยโบราณ ผสมผสานกับความเป็นพื้นบ้านของเพชรบุรี จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

3 ผ้าไหมยกทองโบราณ บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์

หมู่บ้านทอผ้าเอเปก ผ้าไหม 1,416 ตะกอ ยกทองชั้นสูงราชสำนักไทยโบราณ

ความเพียรพยายามของคนไทยนั้นเป็นเลิศ ไม่ว่างานฝีมือใดๆ หนึ่งในนั้นคือ ที่บ้านท่าสว่าง หมู่บ้าน “ทอผ้าไหมหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ” จากการริเริ่มของกลุ่มทอผ้ายกทอง “จันทร์โสมา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอนุรักษ์ และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ

ผ้าไหมยกทองโบราณ เกิดจากการเลือกเส้นไหมที่เล็ก และบางเบานำมาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสีคือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองที่ทำจากเงินแท้ มารีดเป็นเส้นเล็กๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษ ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ มีกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ความสามารถ และความชำนาญ ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่น มีคุณค่า สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาช้านาน

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

4 ผ้าทอลาวครั่ง บ้านผาทั่ง จังหวัดอุทัยธานี

รางวัลชนะเลิศจากยูเนสโก ภูมิปัญญาหลายร้อยปี

เมื่อไปถึงเมืองอุทัยธานี ทั้งที ต้องสัมผัสกับวิถี และวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านผืนผ้าของชาวลาวครั่ง ที่บ้านผาทั่ง ซึ่งพากันอพยพเข้ามาอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ผ่านความสวยงามของลวดลายบนผืนผ้า จากภูมิปัญญาที่ผ่านการสืบทอดจากรุ่น สู่รุ่น มาหลายร้อยปี ผ้าทุกชิ้นล้วนแสดงฝีมืออันละเมียดละไม และความตั้งใจ ทั้ง ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ย่าม กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ลวดลายบ่งบอกถึงสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น ลายกลีบบัว ลายขอหลวงน้อย ลายขอหลวงใหญ่ เป็นต้น

ผ้าทอของที่นี่มีความละเอียดอ่อนของลายผ้า สีสันซึ่งย้อมด้วยวัสดุจาก ธรรมชาติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ 200-300 ปี ผ้าทอจากกลุ่มผ้าทอบ้านผาทั่ง ถือเป็นแหล่งราชินีผ้าฝ้าย ลายผ้าเป็นผ้าทอลายโบราณ มีความงดงามไม่มีที่ใดเหมือน

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

5 ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์

ราชินีแห่งผ้าไหม วิจิตร งดงาม เอกลักษณ์ของชาวผู้ไทย

ผ้าไหมแพรวา นับเป็นผ้าไทยที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้นิยมผ้าไทย และได้ชื่อว่า “ราชินีไหม” ซึ่งมาจากภูมิปัญญาชั้นสูง ความงดงามของทุกลายไหม ทุกดอกดวง ล้วนสืบสานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สู่ผลงานผืนผ้าอันวิจิตรงดงาม

ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอมือ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน หนึ่งในนั้นคือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยยังรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้าแพรวาตั้งแต่อายุ 9–15 ปี โดยใช้ภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมด้วยการเก็บลาย หรือเก็บขิดแบบจกที่มีลวดลายโดดเด่น 

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

6 หัตถกรรมไม้แกะสลัก บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่

OTOP Tourism Village แห่งแรกของประเทศไทย

เราอาจใช้เวลาทั้งวันเดินเล่น ณ บ้านถวาย หมู่บ้านไม้หัตถกรรมที่ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหางดง บ้านถวายเป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทย และต่างประเทศ เป็นแหล่งกำเนิดงานแกะสลักไม้ชั้นเลิศของจังหวัดมากว่า 50 ปี

ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักจากบ้านถวาย ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้า ราคาที่ไม่แพงเกินไป และความโดดเด่นของงานดีไซน์ไม้ ที่มีรูปแบบหลากหลายให้เลือกตามความต้องการ และสอดคล้องกับยุคสมัย

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

7 เครื่องเบญจรงค์ อัมพวา สมุทรสงคราม

สืบทอดหัตถศิลป์แต่ครั้งโบราณ งานฝีมือแห่งความประณีตบรรจง

แวะอัมพวาทั้งที นอกจากมีตลาดน้ำ มีอาหารอร่อยหลากหลาย อย่าลืมแวะไปชม และช้อปเครื่องเบญจรงค์ งานศิลปะภูมิปัญญาของคนไทยที่มีความเป็นมายาวนานของที่นี่กัน

อีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของอัมพวาคือ “เครื่องเบญจรงค์” โดยเครื่องเบญจรงค์ของไทยจะนิยมลง 5 สีด้วยกันคือ ขาว เหลือง ดำ แดง เขียว(คราม) จึงเป็นที่มาของชื่อ “เบญจรงค์” เครื่องเบญจรงค์ถือว่าเป็นงานด้านศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นงานของช่างฝีมือที่ต้องอาศัยความประณีตบรรจง ในการวาดลวดลาย และลงสี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ศิลปะ และถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความมานะอุตสาหะในการฝึกฝนทุ่มเท

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

 

8 เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา

ภูมิปัญญาที่สืบทอด สู่งานโอทอประดับแนวหน้า

จากยุคโบราณที่ย่านนี้เป็นที่พักกองเกวียนที่ค้าขายระหว่างโคราช-เขมร กลายมาเป็นหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ในอำเภอโชคชัย ซึ่งหากเอ่ยถึงสินค้า "โอทอป" หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทตุ๊กตาดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง ต้องมีชื่อของ "เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน"  ติดอยู่ในอันดับต้นๆ

เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนนั้น มีชื่อเสียงมาช้านานแล้ว ในความโดดเด่นทั้งด้วยตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และมีความสวยความด้านเอกลักษณ์ และรูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลาย งานหัตถกรรมจากชุมชนด่านเกวียน สืบทอดภูมิปัญญามาหลายทศวรรษ ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแกร่ง ทานทน และพื้นผิววัตถุมีความมันวาวสวยงาม เนื้อดินปั้นง่ายต่อการขึ้นรูป ทนทานต่อการเผา ไม่บิดเบี้ยวเสียทรง หรือแตกหักง่าย ชิ้นงานมีสีเป็นธรรมชาติ ออกสีดำมันหรือสีน้ำตาลแดง หรือสีเลือดปลาไหล ซึ่งเป็นสีที่ได้รับความนิยมว่าสวยงามมาก 

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

9 ปลาตะเพียนสาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หัตถศิลป์ล้ำค่า ภูมิปัญญาที่น่ารัก

หนึ่งในโอทอปที่น่ารัก และน่าช้อป นั่นคือ ปลาตะเพียนสาน งานประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย หนึ่งในวิถีแห่งภูมิปัญญานั้นคือ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนไทยไว้

การสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิม ซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยา และอาศัยอยู่ในเรือ เป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก แรงบันดาลใจอาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันอยู่กับท้องน้ำ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และความคุ้นเคยกับรูปร่าง หน้าตา ของปลาตะเพียนเป็นอย่างดี

มรดกหัตถศิลป์ถิ่นไทย Thai Legacy

10 ชามตราไก่ จังหวัดลำปาง

กุกกุฏนคร “เมืองไก่” สู่เซรามิกระดับประเทศ

หากพูดถึงจังหวัดลำปาง ไม่เพียงเป็นเมืองสโลว์ไลฟ์ หากยังมีอาหารการกินอร่อย เป็นเมืองรถม้า และมีสถานที่เที่ยวมากมาย

หนึ่งในของดีเมืองลำปางคือ ชามตราไก่ ที่ถือเป็นต้นตำรับของถ้วยชามสมัยนี้ก็ว่าได้ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ลำปาง เนื่องจากมี "ดินขาว" หรือ "เกาลิน" คือ ดินที่มีสีขาวหรือสีซีดจาง ซึ่งสามารถนำมาทำเนื้อเซรามิกได้ทันที โดยไม่ต้องเติมวัตถุดิบอื่นลงไปอีก เมื่อเผาที่อุณหภูมิสูง 1,300 องศาเซลเซียส จะได้เนื้อผลิตภัณฑ์พอร์ซเลน สีขาว แกร่ง ทนไฟสูง เหมาะแก่การทำถ้วยชามต่างๆ ซึ่งมีการค้นพบมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 โดยอาปาอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน ต้นตระกูลธนบดีสกุล ผู้ค้นพบแร่ดินขาว และก่อตั้งโรงงานเซรามิกแห่งแรกของลำปาง

#สัมผัสเมืองไทยต้องไปสักครั้ง #100BestPlacestoVisitinThailand #ReOpenThailand #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ทิพยประกันภัย #BAM #บางกอกแอร์เวย์ส #ฮาตาริ #MediaandBloggerclub

 

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 10398

© www.bloggertravelista.com 2018