หนึ่งในความน่าเที่ยวของเมืองไทย คือชุมชนแห่งภูมิปัญญาอันยั่งยืน หรือ Sustainable CBT
ท่องเที่ยวทักทายชุมชนน่ารักที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ในแนวคิด “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” (Community-based Tourism) ดึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอันงดงามน่ารัก ออกมาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สืบสานความเป็นตัวตนมิให้สูญหาย
นี่คือส่วนหนึ่งใน E-Book สัมผัสเมืองไทย ต้องไปสักครั้ง 100 Best Places to Visit in Thailand ต้อนรับ ReOpen Thailand สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณี มหัศจรรย์ธรรมชาติ หัตถศิลป์ถิ่นไทย ภูมิปัญญายั่งยืน เที่ยวเชิงอาหารและสุขภาพ เที่ยวตามเทรนด์ (Workation & BCG Go Green) สนับสนุนการจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตรทั้ง ทิพยประกันภัย , BAM , บางกอกแอร์เวย์ส ,ฮาตาริ อิเลคทริค เนื้อเรื่องโดย 3 นักเขียนที่มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊คกว่า 130 เล่ม ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล สาธิตา โสรัสสะ และชาธร โชคภัทระ
มาสัมผัส 10 ชุมชนแห่งภูมิปัญญาอันยั่งยืน หรือ Sustainable CBT กันค่ะ
1 ชุมชนบ้านแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
เมืองน้อยน่ารัก ในหุบเขานาขั้นบันได
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าในหุบเขาด้านหลังดอยอินทนนท์อันสูงตระหง่าน จะมีหุบเขาที่เงียบสงบราวกับยูโทเปียแห่งล้านนา(เมืองในฝันของใครหลายคน) อาบอิ่มด้วยนาขั้นบันไดเขียวขจี มีลำน้ำแม่แจ่มไหลผ่าน และผู้คนยังดำรงตนแบบล้านนาแท้ๆ ที่นี่คือ “บ้านแม่แจ่ม” ชุมชนน่ารักที่เข้าไปเยือนครั้งใด จะสัมผัสได้ถึงความเนิบช้า เหมือนาฬิกาชีวิตเดินช้าลง
เราสามารถเข้าไปเดิน หรือขับรถเยี่ยมชุมชน ซึ่งยังมีบ้านเรือนไม้เก่าย้อนยุคอนุรักษ์ไว้ ที่ใต้ถุนของหลายบ้านมีกี่ทอผ้าใช้สำหรับทอ “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” อันมีชื่อเสียง และรูปแบบเฉพาะ โดยใช้สีเหลือง แดง ดำ และขาวเป็นหลัก แม่หญิงทุกวัยของแม่แจ่ม จึงยังคงนุ่งซิ่น และสืบสานการทอเพื่อใช้งานหรือส่งขาย ทั้งยังมีวัดวาอารามเก่าแก่หลายแห่ง ทั้งวัดยางหลวง วัดพุทธเอ้น และวัดป่าแดด ที่ล้วนมีสถาปัตย์ และพุทธศิลป์ล้านนาอันงดงาม ให้ชมอย่างไม่รู้เบื่อ
2 ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่
แพรพรรณสีคราม ความงามจากธรรมชาติ
หากภาคอีสานคือ ดินแดนของผ้าย้อมคราม “บ้านทุ่งโฮ้ง” แห่งภาคเหนือ ก็คงเป็นศูนย์กลางของการย้อมผ้าหม้อห้อม เช่นกัน เสน่ห์ของผ้าสีน้ำเงินครามเข้มข้นสวยงามบาดตาบาดใจ มีชื่อเสียงมาหลายชั่วอายุคน เพราะชาวบ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวไทพวน ที่อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ได้นำภูมิปัญญานี้ติดตัวมาด้วย ในอดีตย้อมใช้กันเอง ทั้งเสื้อ กางเกง และผ้านุ่งสตรี
ทว่าปัจจุบันได้พัฒนาให้โมเดิร์น สวยงาม เก๋ไก๋น่าใช้ ทั้งเสื้อผ้าวัยรุ่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมวก และอื่นๆ มีร้านขายเรียงรายกันมากมาย รวมถึงหลายบ้านเปิดให้เข้าชมขั้นตอนการทำ ได้สัมผัสต้นห้อมจริงๆ และทำ DIY ผ้ามัดย้อมห้อม กลับไปเป็นของที่ระลึกด้วย
3 ชุมชนบ้านท่าเยี่ยม จังหวัดยโสธร
รอยยิ้มบนความพอเพียง เคียงคู่อัตลักษณ์ตัวตน
ห่างจากอำเภอเมืองยโสธร ไปแค่ 3 กิโลเมตร ในตำบลเขื่องคำคือ ที่ตั้งของ “ชุมชนบ้านท่าเยี่ยม” ซึ่งตั้งรกรากอยู่ริมลำน้ำกว้างอันชุ่มชื่นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พวกเขายึดอาชีพทำนาทำไร่เป็นหลัก ประเพณี ฮีต 12 คอง 14 แบบอีสานแท้ๆ ยังพบเห็นได้ที่นี่ ยิ่งถ้าเป็นฤดูทำนาเราจะเห็นพิธีทำขวัญข้าว กราบไหว้พระแม่โพสพ ราชินีแห่งทุ่งข้าว หรือแม้แต่ประเพณีการแห่ และจุดบั้งไฟ ก็มีเป็นประจำทุกปี
นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเยี่ยมชม สามารถทดลองทำบั้งไฟจิ๋ว แล้วจุดขึ้นฟ้าก็ได้เหมือนกัน หรือจะไปที่วัดบ้านกว้าง นมัสการ “พระเจ้าใหญ่” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 พระพุทธรูปประจำสี่มุมเมือง ครั้งเมื่อแรกสร้างเมืองยโสธรขึ้น ส่วนใครที่ไปเที่ยวตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ จะมี “ตลาดเปรมปรี” เป็นตลาดนัดชุมชนบริเวณริมลำน้ำกว้าง บรรยากาศสดชื่นเย็นตา มีสินค้าชุมชน และอาหารพื้นบ้านนานาชนิด ให้ลิ้มลอง โดยเฉพาะยามเย็นเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกแสนโรแมนติก ชมการเซิ้งบั้งไฟ และโปงลางอันสนุกสนานครึกครื้น
4 ชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง
ย้อนอดีตริมลำน้ำวัง นั่งชมเรือนขนมปังขิง
“กาดกองต้า” หรือ “ตลาดจีนเก่า” เป็นชุมชนโบราณที่ยังมีลมหายใจในตัวเมืองลำปาง ทอดตัวเลียบขนานอยู่ริมแม่น้ำวัง จากเชิงสะพานรัษฎาภิเศกยาวไปเกือบ 1 กิโลเมตร บริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นศูนย์กลางการค้าสัมปทานทำไม้สัก จึงมีร้านรวง และอาคารเก่าแก่ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ มีการผสานผสมของสถาปัตยกรรมจีน ล้านนา ยุโรป และพม่า-ไทใหญ่ ทั้งชั้นเดียว และสองชั้น
โดยเฉพาะอาคารแบบ “ขนมปังขิง” อันโดดเด่น อาทิ บ้านหม่องโง่ยซิ่น เป็นห้องแถว 5 คูหา ตามหน้าจั่ว ชายคา เหนือซุ้มประตูหน้าต่าง ตกแต่งด้วยลายสลักไม้วิจิตรบรรจง จนกล่าวกันว่าเป็นเรือนขนมปังขิงสวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย การพาตัว และหัวใจเข้าไปเดินทอดน่องท่องเที่ยวในถนนวัฒนธรรมสายนี้ โดยเฉพาะในถนนคนเดินวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะได้ซึมซับวิถีผู้คน อาหารการกิน ชมการแสดงพื้นบ้าน และจินตนาการย้อนไปถึงตลาดจีนเก่าในวันวาน
5 ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยวชมวิถีตาล จิตวิญญาณคนเมืองเพชร
ว่ากันว่าต้นตาลโตนดกับคนเพชรบุรีเป็นของคู่กันมาหลายร้อยปีแล้ว แม้ทุกวันนี้ก็ยังเห็นป่าตาลนับหมื่นต้นตามหัวไร่ปลายนา และขนมหวานเมืองเพชร ก็อร่อยเป็นพิเศษ เพราะใช้น้ำตาลโตนดเป็นส่วนผสมนั่นเอง
ที่ “บ้านถ้ำรงค์” อำเภอบ้านลาด เป็นชุมชนที่ดำรงวิถีการทำตาลแบบพื้นบ้านมาหลายชั่วอายุคน พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสนุกๆ ให้เข้าไปเที่ยวชมป่าตาลลำต้นสูงชะลูด ดูวิธีการปีนต้นตาล การเคี่ยวน้ำตาลโตนด พร้อมกับชิมน้ำตาลสด ลูกตาลสด ลูกตาลเชื่อม
มีกิจกรรมทำ“ขนมตาล” ด้วยวิธีดั้งเดิมคือ ยีเนื้อลูกตาลสุกสีทองจนมีน้ำไหลออกมา ใส่ผ้าขาวบางทิ้งไว้ 1 คืน จนได้เนื้อตาลข้นๆ ผสมหัวกะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ จึงได้ขนมตาลแท้ที่หอมหวานเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังมีอาหารพิเศษคือ แกงหัวตาล และขนมโตนดทอด ให้ชิมด้วย
6 ชุมชนบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด
มหัศจรรย์ลานตะบูน บนเส้นทาง Eco-Tourism
ตราด เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชุมชนประมงพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “ชุมชนบ้านท่าระแนะ” อยู่ห่างจากตัวเมืองตราดเพียง 11 กิโลเมตร เท่านั้น ที่นี่เลี้ยงชีพด้วยวิถีประมงดั้งเดิม อาศัยป่าชายเลนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเกิดจากการสะสมของดินตะกอนเลนงอกเมื่อ 100 ปีก่อน จนเกิดเป็นแหล่งบ่ม เพาะสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ กุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำจืด กร่อย เค็ม บริบูรณ์มาก
นักท่องเที่ยวสามารถไปล่องเรือชมนิเวศน์ป่าโดดเด่น 3 แบบ ทั้งป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน
ป่าแบบสุดท้าย มีบริเวณที่รากต้นตะบูนเลื้อยพันทอดไปตามพื้นดินหลายร้อยตารางเมตร อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ จนเรียกว่า “ลานตะบูน” และมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำ ทั้งโยนโบว์ลิ่งลูกตะบูน นั่งชิงช้าถ่ายภาพ และโยนลูกตะบูนเพื่อปลูกป่า หลังจากนั้นเมื่อกลับเข้าฝั่ง ก็ยังได้ชิมอาหารอร่อยๆ อย่างจันรอน ใบโกงกางทอด ชาหัวร้อยรู และปลากระบอกต้มส้ม ฯลฯ
7 ชุมชนบางสระเก้า จังหวัดจันทบุรี
ล่องเรือดูเหยี่ยวแดง แหล่งอาหารสุดฟิน
ว่ากันว่าถ้าอยากรับประทานอาหารทะเลให้อร่อยสุดๆ ต้องรับประทานอาหารทะเลที่เกิดจาก 3 น้ำคือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม เพราะกุ้ง หอย ปู ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นจะได้รับธาตุอาหารมากกว่าปกติ นี่คือ ความจริงเมื่อได้ไปสัมผัส “ชุมชนบางสระเก้า” อำเภอแหลมสิงห์ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี ช่วงที่ยังเป็นธรรมชาติมาก สองฝั่งแน่นขนัดด้วยป่าต้นจากเขียวสด บรรยากาศร่มเย็น เหมาะไปล่องเรือชมฝูงเหยี่ยวแดงนับร้อยตัว เป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมของธรรมชาติ
ชุมชนบางสระเก้า มีชื่อเสียงในเรื่องอาหารพื้นถิ่นหายาก มีให้ชิมตลอดปี ทั้งน้ำมะพร้าวจากดินน้ำกร่อย หอยพอกย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด รวมถึง “เมี่ยงปลาเงี่ยน” ซึ่งเป็นเมี่ยงที่ชาวบ้านบอกว่าอร่อยจนหยุดไม่ได้ และต้องไม่พลาดชิม “แกงเป็ดกะลามะพร้าวอ่อน” ใช้เนื้อเป็ดไข่หรือเป็ดกากี ที่เนื้อแน่นเคี้ยวอร่อย แกงกับกะลาอ่อนของมะพร้าวมันกรุบกรอบ ตัดรสเครื่องแกงเข้มข้น เที่ยวไปรับประทานไปสุขใจจริง
8 ชุมชนบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ยลเรือนไทยร้อยปี วิถีอู่ข้าว อู่น้ำภาคกลาง
ห่างจากเกาะเมืองอยุธยา ออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 10 กิโลเมตรคือ ที่ตั้งของ “อำเภอบางบาล” ที่ยังสืบสานวิถีไทยไว้เหนียวแน่น ทั้งที่ตำบลไทรน้อย และตำบลบางบาล นั้น ถือว่าน่าเที่ยวน่าสัมผัสในหลายมิติ เพราะนอกจากจะเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมของชาวมอญ และไทยแล้ว ยังมีกลิ่นอายความเป็นไทยภาคกลางดั้งเดิม ให้ชื่นชมอยู่ทั่วไป ทั้งในเรื่องการทำขนมไทย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง การเผาอิฐมอญ มโหรี ปี่พาทย์มอญ รำไทย รำกระบี่กระบอง และวิถีไร่ นา สวนผสมก็ยังคงโดดเด่น
ที่นี่มีเรือนไทยภาคกลางโบราณให้ชมนับร้อยหลัง สร้างด้วยไม้ หลังคาหน้าจั่ว ฝาเข้าปะกน และยกเสาสูงหนีฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำน้อยไหลผ่านชุมชน ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดความผูกพันระหว่างผู้คน สายน้ำ และจิตวิญญาณแห่งวิถีไทยภาคกลางอย่างลึกซึ้ง
9 ชุมชนบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี
แหล่งเรียนรู้ คู่วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ
มองเผินๆ แม่น้ำสุพรรณบุรี ช่วงอำเภอบางปลาม้า อาจเป็นสายน้ำที่แลธรรมดา เงียบสงบและยังคงเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป จะพบว่ามีชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมภาคกลางตั้งรกรากอยู่กันมาหลายร้อยปีแล้ว นั่นคือ “ชุมชนบ้านแหลม” ซึ่งปัจจุบันเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีคนสุพรรณบุรี กันอย่างลึกซึ้ง
ที่นี่มีเรือนไทยหมู่หลังใหญ่ ชื่อบ้านสวนแผ่นดินแม่ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พร้อมมีกิจกรรมล่องเรือเที่ยว ไปแวะเรียนรู้วิถีบ้านแหลมในแง่มุมต่างๆ ทั้งฐานการสานผักตบชวา ฐานชาเตยหอม ฐานทำธูปหอมสมุนไพร 7 สี และฐานไร่ นา สวนผสม ขนมพื้นบ้าน เหล่านี้คือ จิตวิญญาณแห่งลุ่มน้ำภาคกลาง อู่ข้าว อู่น้ำมาแต่โบราณ ที่เราเข้าไปสัมผัสได้ไม่ยากเลย
10 ชุมชนบ้านดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
เสน่ห์ไทกะเลิง ริมสายน้ำโขง
กว่าร้อยปีมาแล้ว ที่ชาวกะเลิง จากฝั่งประเทศลาวข้ามลำน้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านดอนตาล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร พวกเขานำวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะงานทอผ้ามัดหมี่ย้อมคราม อันมีเอกลักษณ์ ชุมชนบ้านดอนตาล กินอยู่ด้วยวิถีเกษตร และเครือญาติที่เหนียวแน่น รอบหมู่บ้านมีทุ่งนาที่ให้ผลผลิตดี
ชุมชนมีวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) เป็นศูนย์รวมใจ ทุกปีในเดือนตุลาคม ที่วัดจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีงาน “ประเพณีปั่นฝ้ายสายบุญจุลกฐิน” เป็นประเพณีโบราณที่ยังคงสืบสาน คำว่า “จุลกฐิน” หมายถึงการทอดกฐินแบบเร่งด่วน จึงต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก ช่วยกันทำผ้าไตรจีวรให้เสร็จในวันเดียว ถือว่าจะได้อานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะมากกว่ากฐินธรรมดา
#สัมผัสเมืองไทยต้องไปสักครั้ง #100BestPlacestoVisitinThailand #ReOpenThailand #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ทิพยประกันภัย #BAM #บางกอกแอร์เวย์ส #ฮาตาริ #MediaandBloggerclub