เมืองไทยเรานี่มีที่เที่ยวครบทุกรสนะคะ หนึ่งในการท่องเที่ยวอินเทรนด์ คือคอนเซ็ปต์ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ชีวิตอย่างสอดรับกับการพัฒนาอันยั่งยืน ใกล้ชิดธรรมชาติ พึ่งพาตนเองได้ และเรียบง่ายงดงามจนเราต้องแอบอิจฉา
นี่คือส่วนหนึ่งใน E-Book สัมผัสเมืองไทย ต้องไปสักครั้ง 100 Best Places to Visit in Thailand ต้อนรับ ReOpen Thailand สัมผัสวัฒนธรรมและประเพณี มหัศจรรย์ธรรมชาติ หัตถศิลป์ถิ่นไทย ภูมิปัญญายั่งยืน เที่ยวเชิงอาหารและสุขภาพ เที่ยวตามเทรนด์ (Workation & BCG Go Green) สนับสนุนการจัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตรทั้ง ทิพยประกันภัย , BAM , บางกอกแอร์เวย์ส ,ฮาตาริ อิเลคทริค เนื้อเรื่องโดย 3 นักเขียนที่มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊คกว่า 130 เล่ม ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล สาธิตา โสรัสสะ และชาธร โชคภัทระ
1 เกาะหมาก Low Carbon จังหวัดตราด
เที่ยวทะเลตะวันออกสุขใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ในบรรดาเกาะกว่า 60 เกาะของจังหวัดตราด “เกาะหมาก” คือ ชื่อที่นักท่องเที่ยวคุ้นกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในหมู่คนรักธรรมชาติ ชอบความสงบ และใส่ใจห่วงใยสิ่งแวดล้อม เพราะเกาะหมากไม่ได้มีแต่หาดทรายสวยๆ เท่านั้น
ทว่าผู้ประกอบการทั้งเกาะร่วมใจกันเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยแนวคิดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศโลกให้น้อยที่สุด หรือ Low Carbon Tourism ตามรีสอร์ทต่างๆ จึงช่วยกันประหยัดการใช้ทรัพยากร ใช้พลังแสงอาทิตย์ รีไซเคิลขยะ ฯลฯ ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวก็เน้นไปทางปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ดำน้ำ แล่นเรือใบ และเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นับเป็นเกาะแห่งการพักผ่อนที่ลงตัว สงบเงียบ ช่วยให้โลกเราสวยงามไปอีกนานแสนนาน
2 บ้านป่าซางวิวัฒน์ จังหวัดเชียงราย
ต้นกำเนิดสับปะรดนางแล การวิวัฒน์สู่นวัตกรรม
หากจะกล่าวว่า บ้านป่าซางวิวัฒน์คือ ชุมชนแห่งสับปะรดก็คงจะไม่ผิด เพราะมีแต่ไร่สับปะรดให้เห็นทุกที่ คงเพราะดิน น้ำ อากาศ และแร่ธาตุเหมาะสมดี จึงได้รสชาติแสนอร่อย ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งกำเนิดของ “สับปะรดนางแล” ยอดนิยม และภายหลังมีการนำสับปะรดภูเก็ตเข้ามาปลูกผสม จนเกิดเป็น “สับปะรดภูแล” ขึ้นอีกสายพันธุ์หนึ่ง
ชุมชนนี้มีแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ถึง 6 ฐาน ทั้งฐานกระดาษใยสับปะรด ฐานคัดแยกขยะ ฐานไร่ นา สวนผสม ฐานเศรษฐกิจพอเพียง ฐานออมทรัพย์เพื่อการผลิต และฐานครัวเรือนต้นแบบ อีกทั้งยังมีการคิดค้นนวัตกรรม นำสับปะรดมาแปรรูปเป็นเค้ก แยม น้ำสับปะรด และกาแฟสับปะรด ที่ไม่ธรรมดาทั้งหน้าตาและรสชาติ
3 ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง
วิถีคนปักษ์ใต้ ในอ้อมกอดผืนน้ำทะเลน้อย
ทะเลน้อยคือ ทะเลสาบน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีทะเลบัวแดงสวยงามที่สุดในภาคใต้ ทอดตัวอยู่ทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา เติมเต็มระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ ริมทะเลน้อยเป็นที่ตั้งของชุมชนพื้นบ้านมาหลายร้อยปี จนก่อร่างสร้างวัฒนธรรม และอัตลักษณ์พิเศษของตน ทั้งในเรื่องนาฏกรรมการแสดงมโนราห์ การเชิดหนังตะลุง ศิลปะการแกะตัวหนัง และการทอเสื่อกระจูดอันลือชื่อ โดยนำต้นกระจูดที่พบอยู่ดาษดื่นในทะเลน้อยมาเป็นวัตถุดิบ
ในพื้นที่ควนขนุนยังเป็นต้นกำเนิดของข้าวพันธุ์สังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวเฉพาะถิ่นหายากของปักษ์ใต้ อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และนิยมปลูกแบบอินทรีย์ ทุกวันนี้ชุมชนควนขนุนเปิดการท่องเที่ยวเต็มตัว มีตลาดชุมชนเคียงคู่กิจกรรม ล่องเรือออกไปดูทะเลบัว ดูนก ดูควายดำน้ำกินหญ้า และชมแสงแรกของตะวันที่ปากประ อันน่าประทับใจ
4 บ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตที่ลงตัวริมลำน้ำเพชร
ป่าแก่งกระจานเนื้อที่นับล้านไร่คือ แหล่งรวมสรรพชีวิต และต้นกำเนิดแม่น้ำเพชรบุรี ที่ไหลผ่านมายัง “บ้านถ้ำเสือ” ชุมชนซึ่งอยู่กับป่าผืนนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 จากยุคที่มีสัตว์ป่า และเสือชุกชุม จนนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ก้าวสู่ยุคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้สัมฤทธิผล จนมีชื่อเสียงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ก่อเกิด “ธนาคารต้นไม้” ปลูกต้นสัก ตะเคียนทอง พะยูง ยางนา มะค่าโมง มะฮอกกานี ฯลฯ ทำให้ธนาคารตีมูลค่าเป็นตัวเงินปลดหนี้ได้
ชุมชนยังเปิดให้ท่องเที่ยวเดินป่าศึกษาพรรณไม้ ล่องแพยางในแม่น้ำเพชร ดูนกเงือก ยิงหนังสติ๊กเมล็ดพันธุ์ปลูกป่า ดูการเผาถ่าน ฯลฯ และมีอาหารพื้นบ้านอย่างยำผักกูด ที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำตามธรรมชาติให้ชิมด้วย
5 บ้านแม่กลางหลวง จังหวัดเชียงใหม่
แอ่วดอยสูง มุ่งสู่เส้นทางสีเขียว
บนเทือกดอยอินทนนท์สูงใหญ่ ฉ่ำเย็น และอุดมด้วยแมกไม้พงไพรคือ ที่ตั้งของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ผู้เข้าใจวิถีธรรมชาติมาช้านาน และมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมพิเศษของตน พวกเขาใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง ปลูกข้าวเป็นนาขั้นบันไดที่จะผลิใบเขียวสดเย็นตา ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
ที่นี่เหมาะไปนอนโฮมสเตย์ริมนาข้าว สูดอากาศฟอกปอด พร้อมจิบกาแฟอาราบิก้าคั่วบดเองของชุมชน กรุ่นกลิ่นหอมชื่นใจ ไปเดินเล่นโพสท่าถ่ายภาพในนาข้าว หรือชวนกันเดินป่าครึ่งวันเข้าสู่น้ำตกรักจัง (น้ำตกผาดอกเสี้ยว) ที่เคยใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายทำภาพยนตร์มาแล้ว นี่คือ ความสุขเรียบง่ายแห่งดงดอย ที่รอให้สัมผัสได้ตลอดปี
6 บ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่
สมดุลแห่งชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติงาม
เกาะกลาง ชื่อนี้คือ เกาะใหญ่เกาะหนึ่งในแม่น้ำกระบี่ ซึ่งด้านหนึ่งอุดมด้วยแนวป่าชายเลนแน่นทึบ อีกด้านติดทะเลมีหาดทรายสวย บนเกาะมีชุมชนพี่น้องชาวมุสลิมอยู่อาศัยอย่างสงบสุขมากว่าร้อยปีแล้ว โดยอาศัยความอุดมของธรรมชาติเป็นทุนรอน ออกทะเลจับปลา หากุ้ง หอย ปู ปลาในป่าชายเลนมากินมาขาย
จากวิถีดั้งเดิมพัฒนาสู่การเป็นเกาะแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นั่งรถสามล้อพ่วงข้างเที่ยวชมไปตามฐานเรียนรู้ต่างๆ ทั้งฐานข้าวสังข์หยดอินทรีย์ ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านปักษ์ใต้ ยิ่งทานยิ่งแข็งแรงเพราะมีวิตามินสูง ฐานเพ้นท์ผ้าบาติกสวยๆ DIY ได้ลงมือทำเอง และปิดท้ายที่ฐานเรือหัวโทงจำลอง อนุรักษ์ภูมิปัญญา บอกเล่าเรื่องราวของคนเกาะกลางมิให้สูญหาย
7 บ้านบางปู จังหวัดปัตตานี
เที่ยวอุโมงค์โกงกาง มหัศจรรย์ธรรมชาติแดนใต้
บ้านบางปู อำเภอยะหริ่ง คือ ชุมชนชาวมุสลิมเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกของป่าชายเลนสีเขียวอุดมสมบูรณ์ ป่าชายเลนหลายหมื่นไร่บริเวณปากอ่าวปัตตานี ชุมชนนี้โดดเด่นด้วยวิถีประมงพื้นบ้าน ที่จับกุ้ง หอย ปู ปลาสดๆ ขึ้นจากทะเลได้ทุกวัน เป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดม
ในขณะเดียวกันก็พร้อมรับนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติ เข้ามาล่องเรือชื่นชมนิเวศน์ป่าชายเลนแน่นทึบ โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ “อุโมงค์โกงกาง” เป็นแนวป่าโกงกางสองฝั่งโน้มเอนเข้าหากัน จนเกิดเป็นอุโมงค์ธรรมชาติยาวกว่า 700 เมตร ระหว่างทางนอกจากพรรณไม้แล้ว ยังมีนก เช่น นกกาน้ำเล็ก นกยาง และนกกระเต็น ออกมาอวดโฉมด้วย หลังจากนั้นก็ได้เวลากลับขึ้นฝั่งชิมอาหารพื้นบ้าน โดยเฉพาะปูดำตัวใหญ่เนื้อแน่นดีจริง
8 บ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม
รักษ์ป่าชายเลน เล่นกระดานโคลน บนเส้นทางสู่กระเตง
ปากน้ำแม่กลอง ถิ่นนี้คือ ดินแดนล้ำค่าที่ตะกอน และแร่ธาตุมหาศาล ไหลจากแผ่นดินออกไปเติมเต็มนิเวศน์ท้องทะเลอ่าวไทย กุ้ง หอย ปู ปลาชุกชุม มีป่าชายเลนกว้างใหญ่เป็นกำแพงกันคลื่น และมีชุมชนประมงพื้นบ้านที่เข้าใจธรรมชาติเกิดขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ “บ้านคลองโคน” ซึ่งสร้างสมดุลการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ได้อย่างลงตัว กับกิจกรรมล่องเรือออกไปศึกษานิเวศน์ป่าชายเลนปากอ่าว ดูฟาร์มหอยแครง เดินย่ำเลนให้สนุก ปลูกต้นโกงกางเสริมความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ เสร็จแล้วก็ไปผ่อนคลายด้วยกิจกรรมแปลกใหม่ เล่นสกี และเล่นกระดานถีบหาหอยแครงบนพื้นเลน แม้ตัวจะเปียก และเปื้อนโคลน แต่ก็สุขใจ นอกจากนี้ยังมีการพาไปที่ “กระเตง” เป็นกระต๊อบไม้ยกเสาสูงปลูกอยู่กลางทะเล ขึ้นไปนั่งล้อมวงกินข้าว มีปลาทูแม่กลองทอดและซีฟู้ดน่ากินเพียบ
9 ชุมชนแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี
จากวิถีลูกทะเล สู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 91 กิโลเมตร และได้ชื่อว่าบริเวณ “แหลมผักเบี้ย” อำเภอบ้านแหลม คือ จุดที่หาดโคลนจากทิศเหนือมาสิ้นสุดลง กลายเป็นหาดทรายแห่งแรกของเพชรบุรี จนได้ฉายาว่า “โคลนก้อนสุดท้าย ทรายเม็ดแรกของฝั่งอ่าวไทย”
บริเวณนี้มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งหากินแพร่พันธุ์ของนกน้ำนับหมื่นตัว และมีชุมชนประมงพื้นบ้านตามวิถีดั้งเดิมออกเรือเล็กสู่ทะเลแทบทุกวัน แถบนี้เป็นแหล่งปูม้าที่สำคัญ และชุกชุม ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดตั้ง “ธนาคารปูม้า” ขึ้น เพื่ออนุบาลลูกปูจนแข็งแรง แล้วนำไปปล่อยลงทะเลที่ชายหาดแหลมหลวง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสุดพิเศษ “ล่องเรือดูวาฬบรูด้า” (วาฬแกลบ) ลำตัวยาวถึง 15 เมตร ซึ่งมักแวะเวียนเข้ามาให้ชมเสมอ
10 ชุมชนสรรพยา จังหวัดชัยนาท
ลมหายใจแห่งเมืองท่าเก่าริมเจ้าพระยา
เสน่ห์วิถีชีวิตลุ่มน้ำภาคกลางคือ ความผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมไทย-จีนริมน้ำ นาข้าว พุทธศาสนา และอาหารการกินที่หาได้รอบตัว เรื่องราวเหล่านี้มีครบถ้วนใน “ชุมชนสรรพยา” อดีตเมืองท่าเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังคงมีชีวิตชีวา เพราะชุมชนรวมตัวเข้มแข็ง พัฒนาเรือนไม้เก่าริมน้ำให้น่าเดินเที่ยว ย้อนภาพอดีตเก่าๆ วันเสาร์-อาทิตย์มี “ตลาดกรีนดี” ที่มีแนวคิดไปสู่ความเป็น “ชุมชนสีเขียว” เคารพสิ่งแวดล้อมรอบตัว
กิจกรรมสนุกๆ ที่สรรพยามีเพียบ ตั้งแต่การล่องเรือชมเจ้าพระยา ไหว้พระนอนปางปรินิพพานที่หายากในเมืองไทย ชมโรงพักเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2444 ต่อด้วยการชมกลุ่มสานผักตบชวา กลุ่มตาลโตนด กลุ่มเป็ดไล่ทุ่ง ชมเรือผีหลอก ปั่นจักรยาน ฯลฯ เรียกว่าต้องนอนค้างคืนในโฮมสเตย์ให้ยาวๆ กว่าจะซึมซับเรื่องราวของสรรพยาได้ครบถ้วนลึกซึ้ง
เรื่องและภาพโดย Travelista นักเดินทาง
ลายน้ำของภาพโดย Ghost Writer Ta
#สัมผัสเมืองไทยต้องไปสักครั้ง #100BestPlacestoVisitinThailand #ReOpenThailand #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #ทิพยประกันภัย #BAM #บางกอกแอร์เวย์ส #ฮาตาริ #MediaandBloggerclub