พาเดินชมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ค่ะ ที่จริงเปลี่ยนจากเดิมจนไม่มีเค้าโครงเดิมเหลือเลย เรียกว่าทุบของเดิมทิ้งสร้างใหม่เลยค่ะ
เพิ่งเปิดไม่นานเขามีการจัดงานใหญ่ไปแล้ว 3 งาน เราก็มีโอกาสไปเดินเที่ยวมา 2 งานค่ะคือ Food & Hospitality Thailand งานแสดงสินค้ากลุ่มอาหาร และบริการ
อีกงานคือ Sustainability Expo งานมหกรรมด้านความยั่งยืน
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ได้รับการออกแบบใหม่ด้วยงบกว่า 15,000 ล้านบาท พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า! บนพื้นที่ 53 ไร่ การรีโนเวตศูนย์ฯ สิริกิติ์ ‘เพิ่มพื้นที่ใต้ดิน’ จนทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ทั้งหมดได้เป็น 300,000 ตร.ม. เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 50 สนาม มากกว่าเดิมถึงเกือบ 5 เท่า มีพื้นที่รองรับการจัดงานประชุมและงานนิทรรศการต่างๆ มากถึง 78,500 ตรม.
โดยมี Exhibition Hall 8 ห้อง, Plenary Hall 4 ห้อง, Ballroom 4 ห้อง รวมไปถึงห้องย่อย 50 ห้อง รองรับผู้ใช้บริการได้มากถึง 100,000 คน/วัน พื้นที่ใช้สอยที่มากมายขนาดนี้ รวมอยู่ในอาคารทั้งหมด 3 ชั้น พร้อมกับใต้ดินอีก 3 ชั้น ชั้นที่จอดรถรองรับได้ถึง 3 พันคัน เรียกว่าที่จอดกว้างขวางใหญ่โตมากค่ะ
ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่นี้นับเป็นศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชียที่ยิ่งใหญ่จริงๆค่ะ เดินดูแล้วกว้างขวาง ไม่แพ้ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่แห่งใดในโลกเลย และเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All คือเรียกว่าพร้อมรองรับทุกคน ทุกการจัดงาน และทุกมิติค่ะ
โดยเฉพาะงานสำคัญที่กำลังจะมาถึง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดือน พ.ย. นี้ ชูคอนเซปต์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open Connect Balance)” ก่อนที่ “สหรัฐ 2023 - เปรู 2024” จะเป็นเจ้าภาพรับไม้ต่อค่ะ ซึ่งเราจะต้องรองรับผู้นำระดับโลก จากเอเปคซึ่งมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม เป็นความภูมิใจของไทยที่มีศูนย์ประชุมยิ่งใหญ่ โอ่โถ่ง สวยงามมาก รองรับผู้นำทั่วโลกค่ะ
แลนด์มาร์คและเอกลักษณ์อันโดดเด่น
ว่าแล้วก็เดินชมกันเลยค่ะ โทนสีของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ออกสีอุ่นๆ ดีไซน์โทนสีให้กลางๆ เพื่อจัดงานได้ทุกงาน แต่จริงๆดูแล้วจะออกไปสีทองและขาวเยอะค่ะ เวลาเดินเล่น จะเห็นผนังส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว แต่ถ้าบันไดเลื่อนนี่สีทอง สวยงามมากค่ะ
แลนด์มาร์คและสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้นมีอยู่หลายอย่าง อาทิ โลกุตระ, ผนังรูปยักษ์ , เสาช้าง ลูกโลก ฯลฯ ถึงศูนย์สิริกิติ์จะเปลี่ยนโฉมแต่ยังเก็บรักษาอัตลักษณ์เหล่านี้เอาไว้ที่มีอยู่นับตั้งแต่ศูนย์เดิม หากใครจำได้สมัยก่อนเรามักจะนัดพบเพื่อนหรือคนที่จะมาเดินศูนย์ฯกันตรงยักษ์นี่ละค่ะ
โดยมีการนำศิลปินรุ่นใหม่เข้ามาช่วยออกแบบ ผสมผสานทั้งงานใหม่และงานเก่า จากคอนเซปต์หลักของการก่อสร้างคือ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มีการครีเอทความเป็นไทยในลักษณะที่โมเดิร์นขึ้น สากลขึ้น สื่อออกไปในความเป็นศูนย์ประชุมแห่งชาติและนานาชาติ
เรามาดูไฮไลท์ต่างๆกันเลยค่ะ
โลกุตระ ยังตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และกลายเป็นสัญลักษณ์ของหอประชุมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) โลกุตระคือเปลวรัศมีหมายถึงปัญญาที่จะหลุดพ้นจากกิเลส ส่วนแท่นสีดำด้านล่างที่เป็นฐานทำจากหินแกรนิตเป็นตัวแทนกิเลสของฝ่ายโลกียะ และพุ่มเปลวที่มี 8 พูหมายถึง “มรรคมีองค์ 8”หนทางแห่งการหลุดพ้นและยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ซ้อนอยู่นั่นคือ ดอกบัวกำลังแย้มบานจำนวน 8 ก้านที่ผนึกรวมกัน โผล่ผุดขึ้นจากแท่นหิน อันเปรียบได้กับดอกบัวที่โผล่พ้นจากโคลนตม
จากนั้นเป็นผนังรูปยักษ์หรืองานจำหลักไม้ขนาดใหญ่ที่ติดไว้บนฝาผนัง ซึ่งอยู่คู่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2534 หรือเจ้ายักษ์นี่ละค่ะ ผลงานของ จรูญ มาถนอม ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังปราสาทไม้แกะสลักขนาดใหญ่ที่พัทยา หรือปราสาทสัจธรรม โดยชิ้นงาน พระราชพิธีอินทราภิเษก เป็นการจำหลักลงบนไม้จำนวน 56 แผ่น วัดความยาวได้ราว 23 เมตร สูงราว 6.30 เมตรใช้เวลาทำงานจำหลักไม้ทั้งหมด 4 เดือนและอบไม้อีก 2 เดือน มีเรื่องราวเล่าถึงพระอินทร์ตอนที่ได้ทำพิธีสถาปนาขึ้นเป็นผู้ปกครองทวยเทพ หรือในอีกความหมายก็เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9
เสาช้าง ลูกโลก โดย ศิลปิน ธานี กลิ่นขจร ประติมากรรมลอยตัวรูปช้างสี่เศียรที่รองรับลูกโลกสีทองตั้งอยู่บนฐานเสาสูงนี้เคยตั้งตระหง่านอยู่บริเวณโถงต้อนรับของศูนย์การประชุมฯ หลังเก่า ถือเป็นผลงานที่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับสากลอย่างชัดเจน เป็นศิลปะไทยร่วมสมัยที่บ่งบอกถึงเป้าหมายของการสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติแห่งแรกในไทยขึ้นเพื่อให้ทัดเทียมกับต่างชาติ โดยงานประชุมแรกที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็คืองานประชุมธนาคารโลกหรือ World Bank เมื่อ พ.ศ. 2534
ประตูกัลปพฤกษ์ มือจับพญานาค ศิลปิน ไพเวช วังบอน ประตูลายต้นกัลปพฤกษ์สีทองอร่ามทั้ง 16 บานพร้อมมือจับรูปพญานาคทำจากสัมฤทธิ์ ถูกถอดมาจากประตูเพลนนารี ฮอลล์ ของศูนย์การประชุมฯ เดิม ประตูกัลปพฤกษ์นี้ศิลปินคือ ไพเวช วังบอน ได้จำลองลวดลายมาจากบานประตูลายรดน้ำที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ส่วนในขั้นตอนการทำก็ยังคงอนุรักษ์วิธีการรดน้ำปิดทองแบบช่างโบราณ ด้านความหมายของต้นกัลปพฤกษ์นั้นถือเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมใช้ในการเขียนลายไทย และเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็ได้ผ่านขั้นตอนอนุรักษ์ให้สีทองเดิมอร่ามและสว่างยิ่งขึ้น
The Rice เป็นผลงานความร่วมมือของสาธิต กาลวันตวานิช และกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ อย่างปิติ อัมระรงค์ , จุฑามาศ บูรณะเจตน์ กลุ่มนักออกแบบ “โอดีเอ” และพิษณุ นำศิริโยธิน สร้างปฏิมากรรมรูปทรงเมล็ดข้าวขนาดสูง 8 เมตร ห้อยแขวนเหนือโถงบันไดหลักเข้าสู่ตัวอาคารของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รูปแบบเมล็ดข้าวเป็นครีบ 19 ชั้นในแนวตั้งฉากกับพื้นอาคาร ออกแบบเพื่อให้โครงสร้างไม้ และพื้นผิวมีนํ้าหนักเบาที่สุด แต่ยังคงความแข็งแรง รูปทรงโค้ง เว้า ถ่ายทอดตรงตามธรรมชาติของเมล็ดข้าว
เมล็ดพันธุ์ (The Seed) เป็นการออกแบบของธรรมชาติ ที่บรรจุข้อมูลอันทรงคุณค่าทางพันธุกรรม ประจุพลังอันมหัศจรรย์ ที่พร้อมจะรับมือทุกสภาพดินฟ้า อากาศที่สุดจะคาดเดาของธรรมชาติ และเมื่อเงื่อนไขทุกอย่างเป็นใจ เมล็ดพันธ์ที่ดีงามก็พร้อมแล้วที่จะกําเนิด แทงราก แตกยอด ผลิใบ นํา ทุกคุณค่ามายึดโยง เกาะเกี่ยวกันขึ้นเป็นระบบนิเวศน์ที่ไพศาล เปรียบได้กับอารยธรรม วัฒนธรรม ศิลปะ ความเจริญ และนวัตกรรม ก็คือเมล็ดพันธุ์ที่ถ่ายทอดมรดกจากบรรพบุรุษ รุ่นแล้วรุ่นเล่า นับร้อยนับพันปี เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะต่อยอด หล่อเลี้ยง ฟูมฟัก สู่การวิวัฒน์นําพาประเทศไปสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ชุดไทยจำลอง เมื่อเดินในชั้น LG พื้นที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ ที่เชื่อมต่อกับทางเข้ารถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เน้นบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง การตกแต่งจึงดึงเอาเสน่ห์ของผ้าไทยอย่างผ้าขาวม้า ผ้าถุง และเทคนิคการจับจีบและการซ้อนเกล็ดมาใช้ตกแต่งริมผนัง เรียกว่าใครๆก็ต้องเหลียวมองและแวะถ่ายรุปกันค่ะ
อีกไฮไลท์ Bangkok Active Livestyle Mall
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ ‘Bangkok Active Livestyle Mall’ หรือ BALM พื้นที่รีเทลขนาด 11,000 ตารางเมตร รวบรวมทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมและของหวาน แอคทีฟไลฟ์สไตล์ ร้านสะดวกซื้อและขายปลีก ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่มาร่วมอีเวนต์ นักท่องเที่ยว คนรักสุขภาพ ครอบครัว คนทำงาน และผู้ใช้บริการ MRT
ร้านเยอะแยะมากมายจริงๆค่ะ ร้านใหญ่ๆสวยเก๋ๆ รวมครบครัน ไม่ได้ต้องไปเดินเที่ยวงาน แค่แวะไปทานอาหารก็ได้ เหมือนเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าเลยค่ะ
ด้านล่างยังมีศูนย์อาหารขนาดใหญ่ที่รวมอาหารจานเด็ดเอาไว้ ไปชิมกันได้นะคะ มีร้านมากมายเลยค่ะ
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่โอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ คือ สวนป่าเบญจกิติ ที่มีการปรับปรุงใหม่ และจากศูนย์ประชุมโปร่งโล่งด้วยผนังกระจกใสมองเห็นวิวสวนเบญจกิติฝั่งสวนน้ำแบบ 180 องศา
ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงเพียบพร้อมรองรับการจัดงานทุกด้านด้วยเทคโนโลยี แต่มิติด้าน ‘ความยั่งยืน’ ก็โดดเด่น การก่อสร้างศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver พร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยรอบตัวอาคาร เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในศูนย์ฯ
นอกจากนี้ ‘Atrium Stairs’ หนึ่งไฮไลต์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ นอกจากจะเป็นโซนการจัดแสดงนิทรรศการแนวตั้งแห่งแรกในประเทศไทย เป็นทางหนีไฟขนาดใหญ่สู่ทางออกฝั่งถนนรัชดาแล้ว ยังเป็นช่องแสงขนาดมหึมา ที่ทำให้พื้นที่ที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดินปลอดโปร่ง แถมยังเป็นการใช้แสงธรรมชาติให้ความสว่างอาคารในเวลากลางวันได้อีกด้วย
มีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (6G) มั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนการจัดอีเวนต์รูปแบบออนไลน์และไฮบริดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้จัดงานและผู้เข้าชมได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ย้อนอดีต 28 ปีของศูนย์ จัดไปแล้ว 2 หมื่นงาน
จุดเริ่มต้นของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรองรับประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 เปิดให้บริการครั้งแรกตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2534 ในเวลานั้นใครๆต้องไปเดินที่นี่
และหลังจากเปิดบริการมา 27 ปี 8 เดือน ก็ถึงเวลาต้องปิดปรับปรุง เพราะพื้นที่รองรับไม่พอ แถมที่จอดรถก็ไม่มี (หากใครยังจำได้) ต้องขับวนจนกลับบ้านไม่ได้เข้างานไปเลยก็มี
หากจะย้อนไปตลอดระยะเวลาการเปิดให้บริการเป็นเวลาเกือบ 28 ปีก่อนปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมและอีเวนต์ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 20,000 งาน
ลูกค้าแห่ใช้บริการศูนย์โฉมใหม่คิวยาวยันสิ้นปี 66
หลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่กว่า 3 ปี ศูนย์ฯ สิริกิติ์รูปโฉมใหม่นี้ ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้จัดงานทั้งใน และต่างประเทศ มีผู้คอนเฟิร์มการจัดงานจากผู้จัดทั่วโลกแล้วกว่า 160 งาน ตั้งแต่เปิดในสัปดาห์แรกยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 แล้ว
นอกจากเจ้าประจำ อย่างเช่น งานสัปดาห์หนังสือ, Thailand Mobile Expo, Thailand Gameshow ,เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ยังมีลูกค้ารายใหม่ในระดับอินเตอร์จากหลากหลายประเทศ เข้ามาจัดงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วย อาทิ Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลก (เดิมจัดที่ฮ่องกง), ASIA FRUIT LOGISTICA งานแสดงสินค้านานาชาติด้านผักและผลไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย (เดิมจัดที่ฮ่องกง), Jewellery & Gem ASEAN Bangkok (JGAB) งานจัดแสดงสินค้าอัญมณีครั้งยิ่งใหญ่รวบรวมผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จากทั่วโลก (เดิมจัดที่สิงคโปร์) เป็นการยกระดับอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้
อัพเดทอีเวนต์เดือนตุลาคมนี้ อัดแน่นถึง 13 งานจากผู้จัดงานทั้งไทยและเทศ โดยในเดือนนี้จะมีงานที่ทุกคนต่างคิดถึงและตั้งตารอการกลับมาถึง 10 งาน และอีก 3 งานใหม่ที่ได้รับการไว้วางใจมาจัดงานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์
ศูนย์ฯ สิริกิติ์พร้อมให้การต้อนรับสู่ “ที่สุดของอีเวนต์แพลตฟอร์ม” เวลาทำการ : 07.00- 22.00 น. อุโมงค์ MRT เชื่อมสู่ศูนย์ฯ เปิดให้บริการ : 06.00 – 23.50 น. บริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : 05.00 - 24.00 น.
#ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ #ศูนย์สิริกิติ์
เรื่องและภาพโดย Travelista นักเดินทาง (สาธิตา โสรัสสะ)
ลายน้ำของภาพโดย Ghost Writer Ta