Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

tags: ท่องเที่ยวไทย, เขียนเมื่อ : 06 ธันวาคม 2565 17:21:44 จำนวนผู้ชม : 9331
การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

การเปิดบินของสายการบินแอร์แคนาดามายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและแคนาดาอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี

เคยมีเที่ยวบินตรงโดยการบินไทยตั้งแต่บินที่สนามบินดอนเมืองกันเลยทีเดียว (ตอนนั้นยังไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ) และต่อมาการบินไทยส่งไม้ต่อให้ Air Canada ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Star Alliance เหมือนกัน แต่ในที่สุดจากปริมาณการเดินทางที่ไม่เอื้ออำนวยก็ต้องหยุดบินไป

เครื่องบิน Air Canada Boeing 787 โดย “สายการบินแอร์​ แคนาดา” (AIR CANADA) เที่ยวบินที่ AC65 จากท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ได้แลนดิ้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในรอบ 20 ปี นับเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของการเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงจากทวีปอเมริกาเหนือ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกของแอร์ แคนาดาเลยทีเดียว (หมายถึงเที่ยวบินผู้โดยสารในเชิงพาณิชย์นะคะ เพราะอาจจะมีเที่ยวบินแบบแอร์คาร์โก้ แต่ไม่ใช่เที่ยวบินบรรทุกผู้โดยสารค่ะ)

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

ตอนนี้การเดินทางไกลสุดจากประเทศไทยก็คือลอนดอน ใช้เวลาบินตรงประมาณ 13 ชั่วโมง (เพิ่งจะนั่งไปเที่ยวมาเมื่อต้นพ.ย.นี้เองค่ะ นั่งเมื่อยเลย แต่ขากลับบินตามลม ไม่บินต้านลมแบบขาไป ใช้เวลาบินจากลอนดอนเข้าไทย แค่ 11 ชั่วโมงเท่านั้นเอง การบินของพวกสายการบินนี่เวลาจะขึ้นกับลมต้านด้วยค่ะ)

สำหรับแอร์แคนาดาเปิดเส้นทางบินตรงจากแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯจะใช้เวลาบินราว 14  ชั่วโมงค่ะ จะเป็นเที่ยวบินระยะไกลที่สุดจากไทยแทนลอนดอนค่ะ โดยไม่ต้องต่อเครื่อง ความจุ 298 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน

โดยมีเที่ยวบิน AC65 จากแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ ให้บริการในวันจันทร์, พุธ, ศุกร์, อาทิตย์

เที่ยวบิน AC66 กรุงเทพฯ – แวนคูเวอร์ ให้บริการในวันอังคาร, พุธ, ศุกร์, อาทิตย์

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

แอร์แคนาดามองไทยเป็นฐานในเอเชียแปซิฟิก

เหตุผล “แอร์ แคนาดา” ใจกล้าเปิดเส้นทางบินตรงแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นเส้นทางบินสู่ทวีปอเมริกาเหนือ แม้การบินไทยจะเคยบินไปลอสแองเจลิสและต้องม้วนเสื่อไปในที่สุด เพราะเป็นเส้นทางระยะไกลและขาดทุนนับพันล้านบาท แต่สำหรับ “แอร์ แคนาดา” มองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับ “แอร์ แคนาดา” เนื่องจากมีกลุ่มหลักคือ กลุ่ม VFR (Visit Friend & Relatives) เดินทางมาเยี่ยมเพื่อน หรือครอบครัว และกลุ่มนักเรียนที่ศึกษาต่อแคนาดา ซึ่งคนไทยส่งลูกหลานไปเรียนแคนาดาจำนวนมากเลยทีเดียว ทั้งไปแบบ Take Course และไปศึกษาต่ออย่างจริงจัง และยังต้องการขยายฐานไปยังกลุ่มนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน (Leisure) และกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) เป็นสองกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง และมีกำลังซื้อ

การเปิดเส้นทางบินตรงจากทวีปอเมริกาเหนือ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางบินตรงเส้นทางเดียวที่จะเชื่อมระหว่างสองทวีป รัฐบาลแคนาดาเองก็เปิดตัวยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกใหม่ ที่มุ่งมั่นตอบรับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสอดคล้องกับแผน Nation Branding ของประเทศแคนาดา ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆได้รู้จักและคุ้นเคยกับแคนาดามากขึ้น

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐ ก็จะได้รับความสะดวกสบายกับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรล่วงหน้า (Pre-clearance) ในระหว่างแวะพักเครื่อง (transit) ที่แวนคูเวอร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังลอสแองเจลิส นิวยอร์ค หรือปลายทางอื่นๆ กว่า 51 สนามบินในอเมริกา อันนี้ก้เป็นทางเลือกใหม่ จากเดิมที่คนไทยต้องไปต่อเครื่องที่เกาหลี หรือญี่ปุ่นเป็นหลัก

“แอร์ แคนาดา” มองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยว เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอาหารไทย จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากตลาดอเมริกาเหนือ และยังเป็นการดึงนักท่องเที่ยวจากไทย และนักเดินทางเพื่อธุรกิจไปแคนาดาโดยไม่ต้องต่อเครื่อง

ใช้โบอิ้ง 787 ทำการบินพร้อมเซอร์วิสเต็มสูบ

ปัจจุบัน แอร์แคนาดาใช้ Boeing 787 จำนวน 29 ลำ และเตรียมซื้อเพิ่มอีก โดยในอนาคตจะมี 31 ลำ สำหรับเส้นทางแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ ใช้ Boeing 787 เช่นกัน รองรับผู้โดยสารชั้น Business 30 ที่นั่ง, ชั้น Premium Economy 21 ที่นั่ง และชั้น Economy 247 ที่นั่ง

ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ (Signature Class) ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศที่มาถึงจากภายในแคนาดา จะได้รับบริการจากคอนเซียช พร้อมโดยสารด้วยรถปอร์เช่ไฟฟ้าจากเครื่องบินไปยังห้องรับรองบริการคนขับรถที่สนามบินในแคนาดาสำหรับผู้โดยสาระหว่างประเทศในชั้นธุรกิจที่เปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติโทรอนโตเพียร์สัน และท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์

อาหารให้บริการในชั้นธุรกิจได้รับการรังสรรค์โดยเชฟเดวิด ฮอร์คสเวิรธ์ เจ้าของรางวัลเชฟยอดเยี่ยมมากมายและไวน์ชั้นนำที่คัดสรรเป็นอย่างดีโดยซอมเมลิเยร์เวรอนนิก ริเวสท์ ไวน์บัทเลอร์ชั้นนำของแคนาดา

ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจจะได้รับชุด Amenity Kit จากผลิตภัณฑ์ Acqua Di Parma

ผู้โดยสารชั้นประหยัดพรีเมียมและชั้นประหยัด  อาหารให้บริการในชั้นประหยัดในเส้นทางระหว่างประเทศได้รับการรังสรรค์โดยเชฟเจอโรม แฟร์เร ให้มีความหลากหลายในรสชาติ พร้อมเสิร์ฟเมนูอาหารเรียกน้ำย่อยปรับเปลี่ยนตามจุดหมายปลายทาง พร้อมบริการเครื่องดื่มของหวานในทุกเที่ยวบิน และได้รับ ชุด Amenity Kit

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

2 ไฮไลท์ระดับโลกที่ใครๆอยากไปเที่ยวแคนาดา

ที่จริงที่เที่ยวแคนาดามีหลากหลายมากนะคะ แต่ขอพูดถึง 2 ไฮไลท์ระดับโลกนั่นก็คือ

1 ความสวยงามมหัศจรรย์ของน้ำตกไนแองการ่า ไนแองการาอยู่ในลุ่มน้ำเกรตเลกส์ เป็นมรดกตกทอด ของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เมื่อ 18,000 ปีก่อนทางตอนใต้ของออนแทรีโอ โดยจะถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งหนา 2-3 กิโลเมตร จากนั้นเมื่อละลายก็จะปล่อยน้ำละลายจำนวนมหาศาล ลงในแอ่งเหล่านี้

น้ำตกไนแองการา หนึ่งในสถานที่ที่ใครมาเที่ยวแคนาดาแล้วต้องมาชมให้ได้ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งแคนาดาและอเมริกา   

น้ำตกไนแอการ่า (Niagara Falls ) ตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดากับสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่มีขนาดใหญ่เพราะจริง ๆ แล้วน้ำตกไนแอการาเกิดจากน้ำในทะเลสาบตกลงสู่อีกทะเลสาบหนึ่ง น้ำตกไนแอการาประกอบด้วยน้ำตกสามแห่งที่แยกออกจากกัน คือ น้ำตกเกือกม้า (Horseshoe Falls บางครั้งก็เรียก น้ำตกแคนาดา) สูง 158 ฟุต, น้ำตกอเมริกาสูง 167 ฟุต และน้ำตกขนาดเล็กกว่าที่อยู่ติดกัน คือน้ำตก Bridal Veil แม้น้ำตกไนแอการาจะไม่สูงอย่างโดดเด่น แต่ก็กว้างมาก น้ำตกไนแองการามีจุดชมวิวที่สวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของทั้ง 2 ประเทศมานานกว่าศตวรรษและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ลือลั่นสนั่นโลก และเป็นแหล่งที่ทำเงินให้กับแคนาดาและสหรัฐอเมริกาปีหนึ่ง ๆ นับจำนวนมหาศาล

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

2 หอคอยโตรอนโต ซึ่งเป็นหอโทรทัศน์แห่งชาติ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโตรอนโต หรืออาคาร CN Tower (Canadian National Tower) นี่เลยค่ะเป็นวิวขายที่ใครๆก็อยากไปโตรอนโตสักครั้ง นับเป็นอาคารสัญลักษณ์ของเมืองโตรอนโต ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งใน 10 ภูมิทัศน์ของประเทศแคนาดาเท่านั้น แต่ยังเป็นอาคารอิสระที่เคยสูงที่สุดในโลก

หอโทรทัศน์สูงถึง 553.3 เมตร สร้างขึ้นในปี 1976 ชั้น 147 หอสังเกตการณ์ทรงกลมดูคล้ายจานบินอยู่ไกลๆ ตั้งตระหง่านอยู่ติดกับท่าเรือโตรอนโต จากด้านบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองโตรอนโตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด หอโทรทัศน์ดึงดูดนักท่องเที่ยวสองล้านคนต่อปี

ภายในหอคอยมีลิฟต์กระจกด้านนอกความเร็วสูงหลายตัวซึ่งสามารถส่งนักท่องเที่ยวจากชั้นล่างของหอโทรทัศน์ไปยังชั้นสูงสุดในเวลาเพียง 58 วินาที บนยอดหอสามารถมองเห็นวิวเมืองโตรอนโตทั้งเมืองและทะเลสาบอันดาลูได้อย่างไกล

 

การห่างหายไป 20 ปีของเที่ยวบินตรงจากแคนาดาสู่ไทย กับภารกิจท้าทายของแอร์แคนาดา

ในการเปิดบินของแอร์แคนาดานี้ นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. พร้อมด้วย ดร. Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย นาย Virgilio Russi รองประธานฝ่ายขายตลาดต่างประเทศ สายการบิน Air Canada และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมให้การต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของ สายการบิน Air Canada ด้วย

คาดมีนักท่องเที่ยวแคนาดาเข้าไทยทั้งปีกว่า 72,000 คน

ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวแคนาดาเดินทางมายังประเทศไทยแล้ว 39,950 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของภูมิภาคอเมริกา รองจากนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา โดยมีวันพักเฉลี่ยสูงถึง 18 วัน ซึ่งยาวนานว่าตลาดนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาที่มีวันพักเฉลี่ยอยู่ที่ 14-16 วัน รวมทั้งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูง มีจิตสำนึกในและชื่นชอบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนิยมการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Millennials และ Gen X  ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยของการขยายเปิดเส้นทางบิน ททท. คาดการณ์ว่าจะจำนวนมีนักท่องเที่ยวแคนาดาเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดปี 2565 กว่า 72,000 คน และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 76,000 บาทต่อทริป

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ททท. ได้ร่วมกับสายการบิน Air Canada ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขาย 2 ระยะ ได้แก่ เดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 และเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย และวางแผนส่งเสริมการขายต่อเนื่องในระยะที่ 3 ไม่เพียงเท่านั้น ททท. เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ปี 2566 เจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ อาทิ LGBTQ+ และดำเนินกิจกรรม Joint Promotion ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในพื้นที่ พันธมิตร OTA และสายการบิน มอบสิทธิพิเศษให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวภูมิภาคอเมริกาเหนือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในอนาคตอันใกล้มากยิ่งขึ้น

Travelista นักเดินทาง (สาธิตา โสรัสสะ) รายงาน

ขอบคุณภาพน้ำตกจาก www.niagarafallslive.com

tags: ท่องเที่ยวไทย, จำนวนผู้ชม : 9331

© www.bloggertravelista.com 2018