Travelista นักเดินทาง

"365 วันของฉันคือการเดินทาง"
นักข่าว-บล็อกเกอร์-นักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค-โค๊ชออนไลน์

อำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า” ปิดสายการผลิต Boeing 747 ลำสุดท้าย

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, เขียนเมื่อ : 09 ธันวาคม 2565 13:36:47 จำนวนผู้ชม : 67388
อำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า” ปิดสายการผลิต Boeing 747 ลำสุดท้าย

ร่วมบันทึกเพื่อเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการบิน

เพื่ออำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า”

เมื่อเครื่องบิน Boeing 747 ลำสุดท้ายออกจากโรงงาน ก่อนยุติสายการผลิตที่มีมานานกว่า 53 ปีแล้วค่ะ (ออกจากโรงงานเมื่อ 6 ธันวาคม 2565 นี้เองค่ะ)

โบอิง 747 (Boeing 747) เคยเป็นอดีตเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่ชนิดตอนออกมาจากโรงงานหลายคนทึ่ง และเธอเองคือสิ่งที่ทำให้สนามบินทั่วโลกต่างต้องปรับขนาดและปรับรันเวย์ให้รองรับขนาดอันใหญ่โตมหึมา ความยาว และน้ำหนัก เพราะไม่เคยมีเครื่องบินพาณิชย์ที่ใหญ่โตเท่านี้ในยุคนั้น

อำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า” ปิดสายการผลิต Boeing 747 ลำสุดท้าย

สายการบินแพนแอมเป็นสายการบินแรกที่ใช้เครื่องบินนี้ในเส้นทางนิวยอร์ก-ลอนดอน เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1970 (พ.ศ.2512)

โบอิงเปิดตัวเครื่องบินโดยสาร 747 ต่อชาวโลกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2512 ในฐานะเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น จึงได้รับการขนานนาม “ราชินีแห่งห้วงนภา” หรือ “ราชินีแห่งท้องฟ้า” (queen of the sky) และอีกฉายาคือ “จัมโบ้เจ็ต”

บางคนบอกว่านี่คือเครื่องบินที่แม้จะรูปทรงหลังค่อมแต่สวยแปลกตา และยังมีบันไดวนขึ้นชั้น 2 ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้หลายคนตื่นตาตื่นใจอยากนั่งเครื่องบินที่ชั้นบน (ผ่านมา 53 ปีแล้ว ก็ยังมีหลายคนอยากนั่งเครื่องบินที่ชั้นบนนะคะ ซึ่งบางสายการบินอาจจัดเป็นที่นั่งของชั้น Business Class และชั้น First Class)

ตลอดระยะเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ โบอิ้งส่งมอบเครื่องบินโบอิ้ง 747 ให้แก่สายการบินทั่วโลก รวมแล้ว 1,574 ลำ

 

อำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า” ปิดสายการผลิต Boeing 747 ลำสุดท้าย

เครื่องบิน Boeing 747 ลำที่ 1,574 ซึ่งเป็นลำสุดท้าย (The Last Boeing 747) กำลังเคลื่อนย้ายออกจากโรงงานผลิตในเมืองเอเวอเรตต์ ทางตอนเหนือของซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาแล้ว พร้อมยุติสายการผลิต ที่มีมายาวนานกว่า 50 ปี โดยจะทำการทดสอบการบินก่อนส่งมอบให้กับ Atlas Air Worldwide Holdings ที่เป็นลูกค้ารายสุดท้ายของเครื่องบินรุ่นนี้ในช่วงต้นปี 2023

ท่ามกลางความอาลัยของพนักงานโบอิ้งว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปีที่จะไม่มีเครื่องบินรุ่น 747 อยู่ภายในโรงงานผลิตแห่งนี้อีกต่อไป

ย้อนอดีตจากความต้องการของกองทัพสู่เครื่องบินพาณิชย์

หากจะย้อนไปดูเครื่องบิน Boeing 747 เกิดขึ้นจากความต้องการของกองทัพอากาศสหรัฐ  ในการสร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นที่สามารถบรรทุกสัมภาระได้มากขึ้นและบินได้ระยะทางที่ไกลขึ้น นำมาสู่ความสอดคล้องของการบินพาณิชย์ เมื่อลูกค้าของ Boeing อย่างสายการบิน Pan Am ที่ก็กำลังมองหาเครื่องบินลำที่ใหญ่ขึ้น บรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานแต่ละเที่ยวบินให้น้อยลงเช่นกัน

เครื่องบิน Boeing 747 ก็ได้เผยโฉมเป็นครั้งแรก

แต่อุตสาหกรรมการบินไม่เคยว่างเว้นจากการแข่งขัน

ในปี 2005 คู่แข่งสำคัญของ Boeing อย่าง Airbus ได้ออกแบบเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างรุ่น A380 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 853 คน มากกว่า Boeing 747 ที่บรรทุกผู้โดยสารได้ราว 550 คน

อำลาเธอ “ราชินีแห่งฟากฟ้า” ปิดสายการผลิต Boeing 747 ลำสุดท้าย

Boeing ก็ได้ปรับตัวโดยออกเครื่องบินใหม่ๆหลายรุ่น ทั้งประหยัดเชื้อเพลิง และโมเดลการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องบินสองเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กบินได้ระยะทางที่ไกลขึ้น ที่สำคัญราคาถูกกว่าขนาดใหญ่ ประกอบกับทิศทางของการเดินทางในโลก สายการบินแบบโลว์คอสท์แอร์ไลน์กำลังเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งสายการบินเหล่านี้นิยมซื้อเครื่องรุ่นใหม่ที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป สำหรับการบินในภูมิภาค โดยมีราคาค่าเครื่องบินจากโรงงานผลิตที่ไม่สูงนัก

เครื่องบิน Boeing 747 เริ่มทยอยถูกปลดระวางจากบรรดาสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก แต่ยังเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า

โบอิ้งยังเน้นพัฒนารุ่น Boeing 777X เพื่อรับมือกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Airbus และคาดว่าจะพร้อมให้บริการครั้งแรกภายในช่วงต้นปี 2025

Boeing 747 อาจจะเริ่มหายไปจากท้องฟ้า แต่ความรักความคิดถึงของหลายคน ยังมีต่อเครื่องบินรุ่นนี้เสมอ

ข้อมูล Boeing 747

ยาว: 70.66 เมตร

สูง: 19.33 เมตร

น้ำหนักเปล่า: 170,823 กิโลกรัม

น้ำหนักบรรทุกสูงสุด: 68,538 กิโลกรัม

น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด: 371,945 กิโลกรัม

น้ำหนักร่อนลงสูงสุด: 285,763 กิโลกรัม

อัตราเร็วขั้นสูง: 969 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พิสัยบินไกลสุด: 12,230 กิโลเมตร

สายการบินที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ : การบินไทย ไลอ้อนแอร์ แอร์ไชน่า ไชน่าแอร์ไลน์ โคเรียนแอร์ เอเชียน่าแอร์ไลน์ แอร์อินเดีย แควนตัส เคแอลเอ็ม บริติชแอร์เวย์ ลุฟต์ฮันซา

แอลอัล เวอร์จิ้นแอตแลนติกแอร์เวย์ ซาอุเดีย คูเวตแอร์เวย์ มาเลเซียแอร์ไลน์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ กาตาร์แอร์เวย์ เจแปนแอร์ไลน์

เรื่องโดย Travelista นักเดินทาง (สาธิตา โสรัสสะ)

สื่อมวลชนที่ทำข่าวแอร์ไลน์มากว่า 35 ปี

Credit Picture : Jennifer Buchanan The Seattle Times via AP

tags: ท่องเที่ยวต่างประเทศ, จำนวนผู้ชม : 67388

© www.bloggertravelista.com 2018