ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-24 พฤษภาคม ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้โคราชจีโอพาร์ค เป็น UNESCO Global Geopark
หัวใจสำคัญของจีโอพาร์ค (Geopark) หรืออุทยานธรณีคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ภูมิประเทศและแหล่งธรณีวิทยามีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่นๆ และวัฒนธรรมสำคัญและสัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยาและมีการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งในด้านการอนุรักษ์การศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากล่างสู่บน (Bottom-up) เชื่อมโยงเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ จ.นครราชสีมา เป็น Korat The UNESCO Triple Heritage City รวม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.มรดกโลกป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช 3.โคราชจีโอพาร์ค
โคราชจีโอพาร์ค พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง พื้นที่ 5 อำเภอ มีภูมิประเทศเขาเควสตา (เขารูปอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Cuesta & Fossil Land) เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง ซึ่งมีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลกที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วโลก
มีอัตลักษณ์ 8 ประการ คือ ดินแดนแห่ง 1 เขา 1 หิน 1 ป่า 1 ลำ 10 วัฒนธรรม กับ 3 ซาก หมายถึงเขาเควสตา/เขาอีโต้ หินทราย ป่า เต็งรัง ลำตะคอง วัฒนธรรมไทโคราช ซากไม้กลายเป็นหิน ซากช้างดึกดำบรรพ์และซากไดโนเสาร์
นครราชสีมา ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง “3 มงกุฎของยูเนสโก” ในจังหวัดเดียวกันโดยเป็นจังหวัดที่สองของเอเชียและแห่งแรกของประเทศไทย ยูเนสโกต้องการให้เกิดการอนุรักษ์บรรพชีวิตและธรณีวิทยา โดยมีชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยาและเชิงวัฒนธรรม
ผสมผสานการนำ Soft Power กับธรณีวิทยาและจ้างงาน มีอาชีพและรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน