ประเทศไทย นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาชมความงามของธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมแล้ว ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” (Medical Tourism) ตอบโจทย์เป้าหมาย Medical Hub ของภาครัฐ ด้วยความเชี่ยวชาญและมาตรฐานการรักษาระดับนานาชาติ ราคาที่สมเหตุสมผล และจุดเด่น ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และการบริการในแบบ Thai Hospitality นับเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพสูงเลือกปักหมุดเข้ามารับบริการการแพทย์และสุขภาพในไทย
ข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ของไทย ในปี 2030 มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าปี 2019 และคาดว่าจะมีมูลค่าราว 2.9 หมื่นล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่คงค้างในการรักษาพยาบาลหลังการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม CLMV กลุ่มตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ
อีกทั้ง ยังมีปัจจัยจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การเติบโตของชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพ ผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
พญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย ให้สัมภาษณ์ภายในงาน 'INTERCARE ASIA 2023' โดยระบุว่า ตลาด Medical & Wellness มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตจะอยู่ทางฝั่งอาเซียน ประเทศที่มีมาตรฐานด้านการแพทย์ใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลของไทยได้รับการรับรองคุณภาพระดับนานาชาติอย่าง Joint Commission International (JCI) มากถึง 66 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในอาเซียน และอันดับ 4 ในเอเชีย แน่นอนว่า อันดับแรกนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเลือกที่คุณภาพ แต่ไทยมีจุดแข็งที่มาเสริม คือ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมีให้เลือกหลายหลาก การดูแล การพักฟื้น อาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเข้ามาในไทย
“ธุรกิจด้านนี้ต้องมอง 2 ส่วน ส่วนแรก คือ นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา และ ผู้ประกอบการ จะต้องมีการยกระดับทั้งมาตรฐานและองค์ความรู้ เพราะฉะนั้น นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นนักท่องเที่ยวพิเศษ ซึ่งต้องการการดูแลพิเศษ การดูแลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงพยาบาลและคลินิก แต่ต้องดูแลตลอดเส้นทาง ดังนั้น ทางสมาคมฯ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาผู้ให้บริการมืออาชีพ โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ องค์กร Global Healthcare Accreditation (GHA) ในการจัดการอบรมให้ความรู้กับบุคลากร เพื่อเป็น “นักบริหารการเดินทางผู้รับบริการทางการแพทย์มืออาชีพ Certified Medical Travel Professional ( CMTP) นักบริหารการเดินทางเพื่อการแพทย์มืออาชีพ และได้ใบรับรองความเชี่ยวชาญ (Certificate) แล้วจำนวน 40 คน ซึ่งยังไม่เคยมีในประเทศไทย”
ปัจจุบัน มีนักบริหารการเดินทางผู้รับบริการทางการแพทย์มืออาชีพ ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว 40 คน ซึ่งเป็นระดับผู้บริหารองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเข้าสู่ตลาด Medical Tourism ทั้งในด้านการจัดการ การประสานงานระหว่างนักท่องเที่ยวกับโรงพยาบาลหรือคลินิก การส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคล การเดินทาง และเข้าช่วยดูแลระหว่างการรักษา กระทั่ง การท่องเที่ยวต่อ และติดตามการรักษาเมื่อกลับประเทศ
“หากเรามีบุคลากรมืออาชีพจำนวนมาก ทั้งในสายของโรงพยาบาล บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม จะทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกจุดบริการราบรื่น สิ่งที่ได้ จะทำให้เกิดความประทับใจ ได้รับประสบการณ์ ตามมาด้วยการบอกต่อ นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อทำมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับการรับรองระดับนานาชาติ”
พญ.ประภา กล่าวทิ้งท้ายว่า มิติเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ใช่แค่นำนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ต้องสร้างบริการที่ดี ผู้ให้บริการต้องเข้าใจ และมองไปในเรื่องของการยกระดับโรงแรมและผู้ประกอบการ เรื่องการแพทย์ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ล่าสุด สมาคมฯ ได้เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่จะกำหนดมาตรฐานและให้รางวัล Thailand Wellness Award (TIWA) โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ INTERCARE ASIA 2023 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่สำหรับผู้สูงอายุครบวงจร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ภายในงาน นอกจากจะรวบรวมสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพทางการเงิน และสุขภาพใจแล้ว ในปีนี้ยังจัดงาน Wellness & Travel Fair สุขภาพและการท่องเที่ยว 2023 ร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ที่ตอบโจทย์ทั้งผู้รับบริการในไทยและต่างประเทศ โดยมีผู้สนใจเข้าชมงานมากกว่า 10,000 คน