นครราชสีมา ดินแดนที่มีความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่ประมาณ 3000 ปีก่อนตั้งแต่ยุคหินจนถึงยุคประวัติศาสตร์ ย้อนอดีตนับตั้งแต่ภาพเขียนสีเขาจันทร์งามที่วัดเขาจันทร์งามอำเภอสีคิ้วเป็นภาพเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ต่อมาในยุคทวารวดีปรากฏมีอาณาจักรศรีจนาศะ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโบราณเสมา และในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เมือง "โคราฆะปุระ" ถือกำเนิดขึ้นที่ตำบลโคราชริมแม่น้ำลำตะคองมีปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ซึ่งเป็นศิลปะแบบเกาะแกร์
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดฯให้ย้ายเมืองนครราชสีมามาสร้างเมืองใหม่ที่อำเภอเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน โคราชเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมพันปี และมีปราสาทหินโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก
ล่าสุดองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้รับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลกเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และไทยเป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือ ทริปเปิลคราวน์ ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ในจังหวัดเดียวกัน ประกอบด้วย มรดกโลก (กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่), มนุษย์และชีวมณฑล (พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช) และจีโอพาร์คโลก (โคราชจีโอพาร์ค)
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และททท.นครราชสีมา โดยคุณอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการ พาเยี่ยมชมโคราชในเส้นทาง Media Fam Trip สำรวจสินค้าทางการท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา และโคราชจีโคพาร์ค
วันแรกเริ่มที่ปราสาทเมืองแขก อ.สูงเนิน เป็นปราสาทก่อด้วยหินทรายและอิฐ มีหลักฐานสำคัญ เช่น ศิวลึงค์ ฐานศิวลึงค์ หน้าบันสลักภาพอุมามเหศวร ทับหลังภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และมีจารึก 3 หลัก พ.ศ.1517 สันนิษฐานได้ว่าโบราณศาสนสถานหลังนี้สร้างขึ้น เนื่องในศาสนา พราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
ใกล้เคียงกันมีปราสาทโนนกู่ เป็นปราสาทขอมที่ตั้งอยู่ในเมืองโคราฆปุระ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ได้รับอิทธิพล ของขอมโบราณที่แผ่อิทธิพลเข้ามาถึงบริเวณนี้ สภาพปัจจุบันเหลือเพียงซากฐานอาคาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับการสร้างปราสาท เมืองแขก ลักษณะสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ มีลักษณะแบบศิลปะเกาะแกร์ที่พบใน กัมพูชา อยู่ในราว พ.ศ. 1440 – 1490 นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “กินเข่าค่ำ” ของดีเมืองสูงเนินขึ้นบริเวณปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่
ไม่ไกลกันมีวัดธรรมจักรเสมาราม มีโบราณวัตถุที่สำคัญ คือพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนหินทราย
อายุเก่าและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างด้วยหินทรายแดงขนาดใหญ่หลายก้อน รูปแบบได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีผสมกับศิลปะพื้นเมืองมีอายุกว่า 1,300 ปี
วันที่ 2 ออกเดินทางไปยัง อ.คง ชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ณ ชุมชนบ้านปรางค์ (Unseen New Chapter ปี 2566)
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรม
ชมบ้านเรือนไทยโคราช อายุกว่า 100 ปี ซึ่งยังมีคนอยู่จริงกว่า 20 หลัง
นั่งรถลีมูซีนของบ้านปรางค์ ซึ่งก็คือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างนั่นเอง สนุกทีเดียว
ชมและฟังเรื่องราวของปราสาทบ้านปรางค์ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือราว 1,000 ปีก่อน ตรงกับศิลปะเขมรโบราณสมัยบาปวนตอนปลาย เทวสถานปราสาทบ้านปรางค์ วิหารแห่งเทพเจ้าตรีมูรติ สุริยะปฏิทินพันปี แบบเดียวกับสโตนเฮ้นจ์
โดยจะมีวันวสันตวิษุวัต หรือวันราตรีเสมอภาค ซึ่งเป็นวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน และเป็นวันขึ้นปีใหม่หรือวันที่หนึ่งในเดือนใจตระของขอมโบราณ ซึ่งพระอาทิตย์จะส่องตรงประตูปราสาทบ้านปรางค์พอดี ในเวลา 06.00 น. โดยจะมีการจัดพิธีที่สำคัญ เช่นการบวงสรวง พิธีรับพลังจากสุริยะเทพ รับพลังจักรวาล
นอกจากนี้ยังมีสะพานข้ามบารายสวรรค์ สะพานไม้ไผ่ที่พาดผ่านบึงน้ำบ้านปรางค์ ยาวกว่า 300 เมตร ซึ่งเกิดจากความสามัคคีของชาวบ้านในการจัดสร้างขึ้นมา
ชุมชนบ้านปรางค์นคร เป็นชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรม การต้อนรับของชาวบ้านที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม มิตรภาพอันแสนอบอุ่น
หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้รางวัลมากมาย
ร่วมทำกิจกรรม DIY ทำธุง ดวงตาสวรรค์ของพื้นถิ่นอีสาน
อาหารกลางวันที่เด็ดมาก เมนูอาหารถิ่น อาทิ ขาหมูถั่วดำ น้ำพริกหมูโคราช สะเออะเด้อ (ไข่ตุ๋นใส่ปลาร้า) ทอดมันปรางค์นคร ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ที่ชุมชนแห่งนี้เท่านั้น
ติดต่อท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ ประวิตร ชุมสุข ประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว ชุมชนบ้านปรางค์นคร 0897188182
ใกล้กันมีเทวสถานรัตนพิมานพระแม่เจ้าศรีอุมาเทวีมหากาลีเย หรือวัดแขก อำเภอคงโดยคุณแม่อรอุมา อินทรกำแหง
เป็นสถานที่อารยธรรมขอมก่อนเก่าที่มีการบูชาเทพเจ้าฮินดู สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมมิติแห่งพลังจักรวาล หลอมรวมพลังแห่งสุริยันและจันทรา เข้าสู่องค์พระปรางค์ซึ่งเป็นฐานบารมีแห่งอารยธรรมขอม สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สร้างเทพเจ้าฮินดูโดยตรง มีทั้งพระแม่กาลี เป็นอีกหนึ่งภาคของพระอุมาเทวี พระพิฆเนศ และพระศิวะ
จากนั้นออกเดินทางไปยัง อ.พิมาย ชมอุทยานไทรงาม อยู่ในพื้นที่บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สวยงามของรากไทรที่พันกระหวัดรัดเกี่ยวกันอย่างซับซ้อน
ประสานกันเป็นโครงข่ายขนาดยักษ์ เชื่อมต่อกันคล้ายใยแมงมุม มีอายุกว่า 350 ปี น่าจะมีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว
ว่าไปแล้วก็นึกถึงเรื่องราวของต้นไทร ว่าต้นไม้นี้เป็น “นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร” เพราะแม้ต้นไทรจะเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ แต่ก็เป็นนักฆ่าเลือดเย็น เข้ารัดกอดต้นไม้ต้นใด ต้นนั้นจะค่อยๆตายลง เพราะไทรดูดแย่งอาหารไปหมด ปัจจุบันเขาก็จัดสถานที่ให้ดูสะอาด สวยงาม ไม่ดูน่ากลัวแต่อย่างใด
ตอนเย็นร่วมพิธีเปิดโครงการสังคีตวัฒนธรรมการแสดงโขน และชมการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ ชุด “สำมนักขาก่อเหตุ อาเพศลงกา”
ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
จัดโดยอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ร่วมกับสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
กรมศิลปากรได้เปิดให้ชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมายยามค่ำ มาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 และจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ม.ค. 2567
โดยเปิดให้เข้าชมถึงพื้นที่ชั้นในสุดของโบราณสถานในยามค่ำคืนเป็นครั้งแรก คือ ปราสาทพิมาย เมรุพรหมทัต ประตูชัยเมืองพิมาย
นอกจากนี้ ยังเปิดให้สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนสถาน “พระกมรเตงชคตวิมาย” พระพุทธรูปนาคปรก และประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช อีกด้วย
นอกจากนี้ททท. นครราชสีมา ได้เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมชมการแสดง มินิไลท์ แอนด์ ซาวน์ พิมาย ชุด "วิมายะนาฏการ"
ในวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การเลือกซื้ออาหารถิ่น และอาหารมิชลินโคราช ในตลาดย้อนยุค พิมายพันปี บายศรีสู่ขวัญให้แก่นักท่องเที่ยว โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในเมืองพิมาย การแสดงดนตรีไทย จากโรงเรียนพิมายวิทยา และกิจกรรมขยะให้โชค
วันที่ 3 เราได้ท่องเที่ยวภายในเมืองนครราชสีมา ที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สักการะ “พระทศพลญาณประทานบารมี ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช มีความเก่าแก่นานกว่า 300 ปี ถือเป็นพระประธานองค์แรกของจังหวัดนครราชสีมาที่อยู่ภายในพระวิหาร
งดงามด้วยบันไดพญานาค 7 เศียร มีโบสถ์กลางสระบัวที่งดงาม
ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สร้างเมืองนครราชสีมา ที่เพิ่งแล้วเสร็จไม่นานนี้เอง
และในบริเวณเดียวกันยังมีท้าวเวสสุวรรณ เชื่อว่าบูชาแล้วจะมีความเจริญในด้านลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา
สักการะศาลหลักเมืองนครราชสีมา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหราราช มีลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบจีน
แวะชิมกาแฟกับบรรยากาศ สไตล์ โรงเตี้ยมจีน ใจกลางเมืองโคราช ที่ร้านฮูย่า
#ทททอีสาน และ #ทททนครราชสีมา #อีสานไปใสกะแซ่บ #สุขทันทีที่เที่ยวนครราชสีมา #สุขทันทีที่เที่ยวโคราช #AmazingThailand