โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย-เนปาล จัดขึ้นด้วยดำริของ “พระครูธีรธรรมปราโมทย์” หรือ “หลวงพ่อสำเริง สุวรรณละม้าย” เจ้าอาวาสวัดดอยเทพนิมิต ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานโครงการ "จาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา" ซึ่งดำเนินการโครงการนี้มาเป็นครั้งที่ 10
ด้วยความตั้งใจของท่านที่จะ “ปลุกเสกพระเป็นๆ ให้เป็นพระ” โดยการนำพาพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นจะเดินต่อในพระพุทธศาสนา ไปจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ซึ่งมีการเริ่มต้นเส้นทางจาริกธรรมในประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย มายังกรุงเทพฯมหานคร และต่อด้วยเส้นทางจาริกธรรมยังดินแดนพุทธภูมิ ในประเทศอินเดียและเนปาล
การปลุกเสกพระเป็นๆ ให้เป็นพระ โดยการพาคณะสงฆ์ออกเดินธุดงค์ด้วยเท้า ตลอดเส้นทางในพื้นที่ 3 ประเทศหลัก นำมาซึ่งความขันติบารมี (ความอดทน) , วิริยะบารมี (ความเพียร) และ สัจจะบารมี (สัจจะ) เป็นเบื้องต้น และ นำมาสู่อินทรีย์ 5 ที่เข้มแข็ง
ผลของการได้เข้าร่วม “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา”ของคณะสงฆ์ นำมาซึ่งการพัฒนาจิตใจของพระสงฆ์รูปนั้นๆ ให้เกิดความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สามารถประคับประคองเส้นทางแห่งการเป็นเนื้อนาบุญให้ดำรงต่อไปได้ จนถึงขั้นพัฒนาสู่การ เป็นผู้นำสงฆ์ ที่สามารถนำพาหมู่คณะ ทั้งในวัด ,ชุมชน ,โรงเรียน และ ระดับประเทศให้เข้าสู่เส้นทางแห่งพระรัตนตรัย สามารถทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้เกิดขึ้น อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย
คณะสงฆ์ที่เข้าร่วมโครงการจาริกธรรมฯครั้งที่ 10 มีพระสงฆ์จำนวน 82 รูป สามเณร 6 รูป ,แม่ชี 6 รูป , อุบาสก 2 ท่าน, อุบาสิกา 5 ท่าน รวม 101 ชีวิต
การเดินทางครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยแอร์เอเชีย ด้วยจำนวนตั๋วเครื่องบิน 55 ที่นั่ง และมี "ทูตจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา ครั้งที่10 " คือ นายเสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล หรือ "หมอบี" ร่วมเผยแพร่งานด้านพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยสื่อมวลชนที่ร่วมภารกิจครั้งนี้ ภายใต้ "โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย-เนปาล ครั้งที่ 10" ได้แก่ รายการ "ชิบเชื่อมโลก" ออกอากาศทางช่อง 5-HD ทุกวันอาทิตย์ เวลา 21.00 น. และ รายการ "หนุ่ม คงกระพัน official" ออกอากาศทางยูทูป
การเดินทางทั้ง 8 วันของคณะสื่อมวลชน (7-14 กุมภาพันธ์) ที่ร่วมทริป มีดังนี้
วันที่ 1 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 จากดอนเมืองบินสู่สนามบินคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สนามบินพุทธคยา เป็นสนามบินเฉพาะกิจ เปิดเส้นทางระหว่างประเทศเฉพาะฤดูหนาวสำหรับผู้แสวงบุญเท่านั้น (เดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม) คณะธุดงค์เดินเท้าจากสนามบินคยา มายังวัดเนรัญชราวาส ระยะทาง 12 กม. สื่อเดินทางชม "วัดเมตตาพุทธาราม" ช่วงบ่ายคณะธุดงค์เดินธุดงค์ ตามรอยพระพุทธเจ้า ข้ามแม่น้ำเนรัญชราสู่มหาเจดีย์พุทธคยา ร่วมกันทําวัตรเย็นหน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ พักวัดเนรัญชราวาส เมืองคยา
วันที่ 2 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 คณะธุดงค์ทําวัตรเช้าและฉันภัตตาหาร ณ วัดเนรัญชราวาส คณะธุดงค์เดินธุดงค์จากวัดเนรัญชราวาส ไปยังวัดสุชาดา ซึ่งเป็นจุดถวายข้าวมธุปายาส ที่นางสุชาดาพบมหาบุรุษ คิดว่าเป็นรุกขเทวดามารับอาหารตามคำที่นางได้มากล่าวบนบานขอไว้ว่าให้ได้แต่งานกับผู้มีฐานะเท่าเทียมตน จากนั้นมายังสถูปบ้านนางสุชาดา สถานที่ที่เคยเป็นบ้านนางสุชาดาที่พระเจ้าอโศกได้สร้างพระเจดีย์เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา เข้าที่พักวัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี
วันที่ 3 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 รับประทานอาหารเช้าวัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี คณะสื่อล่องแม่น้ำคงคาชม "มณิกรรณิกาฆาฑ" ท่าสำหรับปลงศพที่ได้ชื่อว่าแสงไฟจากการเผาศพไม่เคยดับมากว่า 5,000 ปี ชม "ธัมเมกขสถูป" พระสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์
"เจาขัณฑีสถูป" พระสถูปที่ พระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นตรงจุดที่พระพุทธเจ้าทรงพบกับปัญจวัคคีย์ ก่อนที่พระองค์จะแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร เข้าพักวัดไทยเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
วันที่ 4 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 รับประทานอาหารเช้าวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ต่อไปยัง "บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี" และ "บ้านองคุลีมาล" ห่างกันแค่ถนนเล็กๆคั่นกลาง
อนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือ สุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี เป็นเศรษฐีที่ใจบุญ ชอบช่วยเหลือคนตกยาก อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงมีศรัทธาสร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องคุลิมาล เป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพุทธศาสนา โดยเฉพาะตามพุทธประวัติพุทธฝ่ายเถรวาทเดิมนั้นเป็นโจรปล้นฆ่าคน แต่ภายหลังมีศรัทธาในพุทธศาสนา ได้กลับใจบวชเป็นพระภิกษุ และบรรลุเป็นพระอรหันต์
"เชตวันมหาวิหาร" หรือวัดพระเชตวัน เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจำพรรษานานที่สุด ภายในมีกุฎิพระพุทธเจ้าและอัครสาวกองค์สำคัญหลายองค์ มีต้นศรีมหาโพธิ์ที่ปลูกตั้งแต่สมัยพุทธกาล "สถูปยมกปาฏิหาริย์" เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ ปัจจุบันมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ บนยอดของเนินดินมีซากโบราณสถานตั้งอยู่ เดินทางข้ามไปประเทศเนปาล เข้าพักวัดไทยลุมพินี เนปาล
วันที่ 5 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 รับประทานอาหารเช้าวัดไทยลุมพินี เนปาล เดินทางไปยัง "ลุมพินีวัน" สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า "รามคามสถูป" นครเทวทหะ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 8 พระนคร ที่ได้รับส่วนแบ่งเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นครกุสินารา เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศอินเดีย เข้าพักวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
วันที่ 6 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 "กุสินารา" สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า "มกุฏพันธนเจดีย์" คือสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระสถูปครอบบริเวณนี้ไว้ "เกสริยาสถูป" เป็นสถูปพบใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย ที่ประดิษฐานบาตรของพระโคตมพุทธเจ้าที่ทรงประทานแก่ชาววัชชี เข้าพักวัดไทยนาลันทา
วันที่ 7 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 "เขาคิชฌกูฏ" ตั้งอยู่ในกรุงราชคฤห์ รัฐพิหาร บนยอดเขามีกุฎิของพระพุทธเจ้า ระหว่างทางขึ้นมี ถ้ำพระโมคคัลลานะ และ ถ้ำพระสารีบุตร "เวฬุวันมหาวิหาร" เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูป และถือเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่นอกเมืองราชคฤห์ ถวายโดยพระเจ้าพิมพิสาร "ตโปทาราม" บ่อน้ำพุร้อน 4 ชั้นวรรณะ เข้าพักวัดไทยพุทธคยา
วันที่ 8 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันเดินทางกลับ
นับว่าทริปนี้ได้ปิดฉากลงอย่างสวยงาม จรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ยืนยาวนานตลอดไป